สนช.เห็นชอบร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการฯของอาเซียน

17 ส.ค. 2561 | 09:33 น.
สนช. เห็นชอบร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10ฯ ภายใต้กรอบความตกลง AFAS   ด้าน รมช.กระทรวงพาณิชย์ ระบุ ร่างพิธีสารดังกล่าว จะกำหนดให้ไทยผูกพันการเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมจากข้อผูกพันชุดที่ 9 จำนวน 6 สาขาย่อย

สนช.

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนและข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ของไทย ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS)

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพิธีสารดังกล่าว กำหนดให้ประเทศไทยผูกพันการเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมจากข้อผูกพันชุดที่ 9 จำนวน 6 สาขาย่อย คือ บริการรับส่งข้อมูลแบบแพ็กเกจสวิทช์ / บริการรับส่งข้อมูลแบบเชอร์กิตสวิทช์ / บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ / บริการขนส่งสินค้าโดยคนหรือสัตว์ลากจูง / บริการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงเรือบรรทุกบางประเภท ขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส และ บริการทำความสะอาดระวางเรือบาร์จ โดยอนุญาตให้ผู้บริการในอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ตามเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ชุติมา

พร้อมยืนยันว่า ข้อผูกพันนี้ เปิดเฉพาะกิจการย่อยภายใต้สาขาหลักซึ่งประเทศไทยมีความพร้อม และภายใต้กฎหมายของไทยก็ได้อนุญาตให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาดำเนินการกิจการในไทยได้ รวมถึงได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้ เช่น ข้อจำกัดในการเปิดธุรกิจจะต้องเป็นในรูปของบริษัทและต้องมีการร่วมลงทุน และห้ามไม่ให้ถือครองที่ดิน และได้ระบุให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ด้วย

ด้าน พลเอก ยุทธศิลป์  โดยชื่นงาม ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ฯ กล่าวว่า ประเทศในอาเซียนได้ยื่นข้อเสนอผูกพันตามตลาดบริการชุดที่ 10 แล้ว 4 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ 5 และจะมีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 50 ระหว่าง 26 ส.ค. - 2 ก.ย. 61 ณ ประเทศสิงคโปร์  โดยหลังพิจารณาคณะกรรมการเห็นว่า กรอบความตกลง AFAS มีความสำคัญที่จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ  เสริมสร้างความร่วมมือด้านบริการระหว่างสมาชิกและส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในเวทีโลก  และเห็นว่า การผูกพัน 6 สาขาย่อยเพิ่ม ไม่ส่งผลให้ไทยต้องแก้กฎหมาย ข้อผูกพันเปิดตลาดบริการที่ผ่านมาและฉบับนี้ ได้เลือกสิ่งที่ไทยมีความพร้อมและเป็นการแสดงความพร้อมในการรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 62  และเมื่อพิธีสารและข้อผูกพันมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกอื่นได้

ภายหลังที่ประชุม สนช. รับฟังสาระสำคัญและข้อมูลต่างๆ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาพิธีสารฯ สนช.เห็นด้วยและมองว่าพิธีสารดังกล่าวจะยังประโยชน์ให้กับประเทศไทย พร้อมมีมติให้ความเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ด้วยคะแนนให้ความเห็นชอบ 177 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง

e-book-1-503x62