‘ดีอี’ตื่นรับมือดิสรัปชัน ผนึกสมาพันธ์ TFIT ดันกฎหมายตั้งสภาดิจิทัล

18 ส.ค. 2561 | 05:20 น.
       กระทรวงดิจิทัลฯ ผนึกสมาพันธ์ TFIT เดินหน้าจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ ชี้ต้องปรับตัวเทคโนโลยีดิสรัปชัน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศขนานไปกับภาครัฐด้วยภารกิจหลัก 5 ด้าน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ปาฐกถาพิเศษในงานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในงาน TFIT Forum 2018 ว่า ประเทศไทยไม่ต่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอล (Digital Transformation) ในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งการซื้อขายสินค้า การทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ที่เปลี่ยนมาสู่รูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องระบบการแพทย์ที่นำนวัตกรรมอย่างหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์มาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการ รักษาและค่าใช้จ่ายลง การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการบางรายถูก ดิสรัปต์จนไม่สามารถอยู่ได้

ทั้งนี้จุดหมายปลายทางคือ ต้องการทำให้สังคมไทยเกิดความมั่นคง มีการใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกต้อง การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลสมัยใหม่ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI ) การใช้ระบบออโตเมชันต่างๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกัน โดยหลังจากที่ได้ทำงานร่วมกันหลายเดือนที่ผ่านมาได้มีความเห็นว่าการรวมกันของกลุ่มคนในวงการดิจิตอลทั้งผู้ใช้ ผู้พัฒนา และผู้ผลิต น่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กัน โดยจะเร่งให้มีการผลักดัน พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะสามารถช่วยประเทศ ช่วยพัฒนาคน นวัตกรรม สร้างมาตรฐานและเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง

MP20-3393-1 อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงการเน็ตประชารัฐ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ช่วยความเหลื่อมลํ้าทางด้านดิจิตอลของคนไทยในทุกหมู่บ้าน ต่อยอดไปสู่การค้าขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เคเบิลใต้นํ้า ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เรื่องของอวกาศ ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจ เพื่อเร่งให้เกิด พ.ร.บ.อวกาศและการจัดตั้งสำนักงานอวกาศของไทย ซึ่งจะเป็นสำนักงานแห่งแรกในภูมิภาค ที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึงเรื่องของกฎหมายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และกฎหมายต้นแบบของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการโจมตีทางคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังได้เร่งการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ตอัพในประเทศไทย โดยมีศูนย์ส่งเสริมเพื่อสร้างระบบนิเวศให้แก่สตาร์ตอัพ

นอกจากนี้ โครงการสมาร์ทซิตี ที่ภูเก็ต ที่ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อจัดตั้งบริษัทสำหรับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเพื่อผลักดันภูเก็ตสู่เมืองอัจฉริยะ โดยโครงการทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอยู่ในระหว่างรอการร่วมทุน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่จะลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและดึงดูดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในการพัฒนาประเทศ

[caption id="attachment_306506" align="alignleft" width="364"] ศุภชัย เจียรวนนท์ ศุภชัย เจียรวนนท์[/caption]

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นความท้าทายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ
ไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วน เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติ เพราะธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านไม่ทันก็ดับไปอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทาย แต่การเปลี่ยนผ่านนั้นมีโอกาสตามมาเสมอ และเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามองอีกมุมนั้นถือได้ว่าเป็นโอกาส ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในหลายธุรกิจ ตั้งแต่สตาร์ตอัพ ธุรกิจขนาด เล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม

ขณะที่ TFIT เป็นสมาพันธ์ที่มี 22 สมาคมมารวมตัวกัน ประกอบด้วยนิติบุคคล บุคคลกว่า 4,000 รายและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยก่อเกิดมาจากหมวดหมู่ด้านไอที คอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ ซึ่งพันธกิจของ TFIT คือ 1. มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิตอลทุกประเภท 2. คือ การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิตอล และ 3. คือส่งเสริมการนำนวัตกรรมดิจิตอล ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ซึ่งเป็นบทบาทของ TFIT ในขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นสภาดิจิทัลฯ ซึ่งมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนประเทศที่ควบคู่ไปกับกระทรวงดีอี ประกอบด้วยภารกิจ 5 ด้าน คือ 1. ลดความเหลื่อมลํ้าด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล 2. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ 3. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิตอล 4. เป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับของภาครัฐและเอกชน และ 5. การผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

e-book-1-503x62

...............................................................................................

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3393 | ระหว่างวันที่ 19 - 22 สิงหาคม 2561