ปิดฉากท่องเที่ยวครึ่งปีแรก! แอร์ไลน์รับมือน้ำมันพ่นพิษ-โรงแรมกำไรพุ่ง

20 ส.ค. 2561 | 04:08 น.
จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า การดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวและการบินของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แม้ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินต้องเผชิญกับราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ทำให้ทุกสายการบินของไทยประสบปัญหาการขาดทุนในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ด้วยอานิสงส์ของผลการดำเนินงานที่สั่งสมมาในช่วงไตรมาส 1 ทำให้ครึ่งแรกของปีนี้ บางสายการบินยังคงโกยกำไร ยกเว้น การบินไทยและนกแอร์ที่ยังคงขาดทุนอยู่ ขณะที่ ธุรกิจโรงแรม พบว่า มีผลกำไรเติบโตสูงกว่าปีก่อนอย่างชัดเจน


BA-AAV ยังโกยกำไร
ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สายการบินที่มีการขยายตัวของกำไรสูงที่สุด คือ 'บางกอกแอร์เวย์ส' (BA) กำไรเพิ่มขึ้น 4,152.46% ซึ่งเป็นแรงหนุนจากเที่ยวบินที่ให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิที่เพิ่มขึ้น จึงเอื้อให้การเติบโตของธุรกิจสนามบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในสนามบิน ยกเว้น ธุรกิจคลังสินค้า มีการเติบโตของรายได้สูงถึง 7.3% สูงกว่ารายได้จากธุรกิจสายการบินที่เติบโต 2.3%

ขณะที่ "แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น" หรือ AAV แม้จะขาดทุนในไตรมาส 2 กว่า 306.1 ล้านบาท จากสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน 37% แต่ด้วยช่วงไตรมาสแรกที่ทำกำไรตุนไว้แล้ว ก็ทำให้ตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้ จึงมีกำไรอยู่

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเรื่องท้าทาย เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของทุกสายการบิน แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถปรับตัวได้ และมีผลประกอบการที่น่าพอใจในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ เมื่อดูจากส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางภายในประเทศ ไทยแอร์เอเชียยังรักษาความเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 33% รวมทั้งยังมองการขยายเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง โดยมองโอกาสในฐานปฏิบัติการการบินอื่น ๆ นอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น


MP22-3393-A



TG ขาดทุนลด - นกแอร์โคม่า
สายการบินที่ยังคงขาดทุนอยู่ อย่าง 'การบินไทย' ที่แม้จะยังคงขาดทุนอยู่ 381.6 ล้านบาท แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุนสูงถึง 2.05 พันล้านบาท ถือว่าขาดทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 81% อันเป็นผลมาจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 โดยผลประกอบการครึ่งปีแรก การบินไทยยังคงมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจการบิน (Operating Profit) อยู่ที่ 1.02 พันล้านบาท ดีขึ้นจากปีก่อน 41.8%

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีรายได้รวมสูงกว่าปีก่อน ซึ่งเกิดจากกำไรจากการขายหุ้นในโรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน จำนวน 632 ล้านบาท และกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ใน จ.แม่ฮ่องสอน โดยรับรู้กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ทั้งสิ้น 632 ล้านบาท ส่วนแผนในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังคงเดินไปตามแผนฟื้นฟูธุรกิจอยู่ ซึ่งจะเน้นการเพิ่มรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร โดยใช้ระบบ Revenue Management System (RMS) และการหารายได้ผ่านดิจิตอล การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

'นกแอร์' เป็นอีกสายการบินที่ยังคงติดตัวแดงและอาการกลับมาโคม่า เมื่องบสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2561 พบว่า ล่าสุด บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 406.10 ล้านบาท จากหนี้สินทั้งหมด 6.62 พันล้านบาท สูงกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ 6.21 พันล้านบาท และมีการขาดทุนสะสมถึง 6.19 พันล้านบาท ขณะที่ ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 2.27 พันล้านบาท ทั้งยังมีแผนจะกู้ยืมเงินระยะสั้นจากกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของบริษัท

โรงแรมตีปีกกำไรพุ่ง
ในด้านธุรกิจโรงแรม พบว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ต่างมีกำไรพุ่งกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกันถ้วนหน้า โดยกลุ่ม "ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล" หรือ MINT โกยกำไรมากที่สุด คือ เฉียด 3 พันล้านบาท เติบโต 10% จากความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นของธุรกิจโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นของไมเนอร์เอง และการรับบริหาร รวมถึงเงินปันผลจากการลงทุนในเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ในยุโรป

ขณะที่ "บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)" หรือ CENTEL มีกำไรเติบโตกว่า 6.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วนโรงแรมที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิมากสุด คือ 'ดุสิตธานี' ที่กำไรเพิ่มขึ้น 191% จาก 32 ล้านบาท มาอยู่ที่ 231 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น ๆ เช่น รายได้จากเงินลงทุนระยะยาว การขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจอาหาร และในช่วง Q2 ยังพลิกจากที่ขาดทุน 92 ล้านบาท มาทำกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย แต่สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ การหยุดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 ม.ค. 2562 ซึ่งรายได้ที่หายไปหลายปีกว่าจะปรับโฉมโรงแรมแล้วเสร็จ

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เผยว่า การหยุดให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และทยอยปรับปรุงโรงแรมหลายแห่ง ทำให้เราต้องรับมือด้วยการจัดโครงสร้างธุรกิจที่เป็นรายได้จากการลงทุนระยะยาวและการขยายธุรกิจใหม่ อย่าง การลงทุนธุรกิจอาหารผ่าน NRIP และจะยังหาโอกาสขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่น ๆ ส่วนธุรกิจหลักอย่างโรงแรม ปีนี้ก็ยังมีเป้าหมายเปิดโรงแรมภายใต้การบริหารของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล อีก 10 แห่ง ในเวียดนาม สิงคโปร์ ภูฏาน ฟิลิปปินส์ บาห์เรน จีน

ทั้งหมดเป็นภาพรวมการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนครึ่งหลังของปีนี้ ต้นทุนน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่ท้าทายในการรับมือของธุรกิจสายการบิน ส่วนธุรกิจโรงแรมก็มีทิศทางที่ดีตามการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของไทย


……………….
รายงานพิเศษ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19-22 ส.ค. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พัฒนาท่องเที่ยว IMT-GT แนะขายแพ็กเกจมรดกทางวัฒนธรรม "ยูเนสโก"
นายกฯชี้”ล้อ ราง เรือ”เชื่อมคมนาคมและท่องเที่ยววอนปชช.อดทนเพื่อบูรณาการ

e-book-1-503x62