30 ร่างกฎหมาย ค้างท่อ!กมธ.บ่มข้ามปี หวั่นปฏิรูปเศรษฐกิจเหลว

16 ส.ค. 2561 | 12:18 น.
 

org_9092417713 รัฐสภามีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบออกกฎหมายมาบังคับใช้ เพื่อรองรับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ในห้วง 3 ปี (31 ก.ค. 57-31 ก.ค.61) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีผลงานให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายจำนวนมากเพื่อออกมาบังคับใช้

ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งที่องค์กรอิสระ หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องจัดทำ 10 ฉบับ ได้ประกาศใช้ไปแล้ว 8 ฉบับ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 2 ฉบับ

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นั้น สนช.รับมาจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ 21 ฉบับ สนช.เสนอเอง 45 ฉบับ และที่ครม.เสนอ 300 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 366 ฉบับนั้น สนช.เห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 286 ฉบับ (บางฉบับเป็นการรวมร่างจากที่เสนอจากหลายทาง) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 282 ฉบับ และรอประกาศอีก 4 ฉบับ

สมัยประชุมสภา

กมธ.บ่มข้ามปี 4 ร่างพ.ร.บ.

มีร่างพ.ร.บ.ที่สนช.เห็นชอบในหลักการวาระแรก และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณารายละเอียด จำนวน 30 ฉบับ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสนช.ให้พิจารณาภาย ใน 60 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุมสนช.ให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งที่ข้อบังคับการประชุมสนช.ให้กมธ.พิจารณาในกำหนด 60 วัน “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบสารบบร่างกฎหมายของสนช.พบว่า ในจำนวนนี้มีถึง 4 ฉบับ ที่กมธ.พิจารณาในรายละเอียดผ่านไป 1 ปีเต็มแล้วยังไม่สรุป

โดยเมื่อครบกำหนด กมธ.ขอที่ประชุมสนช.ขยายเวลาการพิจารณาออกไป ในร่างกฎหมายที่มีรายละเอียดหรือประเด็นพิจารณาที่มีข้อถกเถียงเยอะนั้น บางฉบับขอขยายซํ้าแล้วซํ้าอีกเป็นครั้งที่ 7-8 รวมทั้งขอมติที่ประชุมสนช.งดใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้การขอขยายเวลาพิจารณาได้ภายใน 30 วัน และขอขยายแต่ละครั้งเป็น 60 หรืออาจถึง 90 วัน

ประกอบด้วย 1. ร่างพ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรม สนช.เห็นชอบในหลักการวาระแรกตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 2. ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (2 มี.ค. 60) 3. ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (31 มี.ค. 60) และ 4. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ส่วนอีกฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.พัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ นั้น สนช.เห็นชอบหลักการวาระแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 อีกไม่กี่วันก็ครบ 1 ปีด้วยเช่นกัน

ลากยาวร่าง ก.ม.เศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายที่ตกค้างในการพิจารณาของ กมธ. ยาวนานนั้น นอกจากร่างพ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรมแล้ว ที่เหลือล้วนแต่เป็นร่างกฎหมายทางเศรษฐกิจ ซึ่งบทบัญญัติในร่างกระทบถึงผู้มีส่วนได้เสียหลากหลาย จึงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมถึงในชั้น กมธ. ที่ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณายาวนาน และขอขยายเวลาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่กลายเป็นคำถามตัวโตถึงรัฐบาล ว่ามุ่งมั่นต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่ประกาศ ว่าเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมลํ้า สร้างความเป็นธรรมในสังคม จริงหรือไม่ จนมีกระแสว่า ร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจเหล่านี้จะไม่ทันสนช.ยุคนี้ ให้เสนออีกครั้งหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐสภาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กลั่นกรอง โดยอ้างมีความชอบธรรมมากกว่า

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายฉบับนั้น มีการเสนอและผลักดันมาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถฝ่าด่านในชั้นนิติบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาเป็นภาระกับผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองทางการเมือง จึงถูกตีตกหรือเตะถ่วงในกระบวนการจนไม่เคยคลอดเป็นกฎหมายได้สำเร็จ จนมามีความหวังในช่วงรัฐบาลคสช.ที่มีอำนาจเด็ดขาด และแสดงเจตนารมณ์อย่างแข็งขันที่จะผลักดันให้เกิดบรรลุผลโดยเร็ว แต่ท้ายสุดเหมือนจะซํ้ารอยเดิม

[caption id="attachment_306342" align="aligncenter" width="503"] มีชัย ฤชุพันธุ์ มีชัย ฤชุพันธุ์[/caption]

เกษตรกรขวางก.ม.ภาษีนํ้า

ทั้งนี้ รัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทรัพยากรนํ้ามีเอกภาพ โดยให้มีคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) เป็นบอร์ดระดับนโยบายมีนายกฯเป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง และมีกรรมการจากตัวแทนลุ่มนํ้า และใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ”  มีฐานะเป็นกรม สังกัดสำนัก นายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนช. และสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มนํ้าและคณะกรรมการลุ่มนํ้าสาขา ตลอดจนปรับ ปรุงกฎหมายให้สอดรับกับการจัดตั้งสำนักงาน กนช.

ที่สนใจกันมากคือ ตามกฎหมายนี้แบ่งการใช้นํ้าเป็น 3 ประเภท คือ 1. ใช้เพื่อดำรงชีพปริมาณเล็กน้อย ทั้งเพื่อกิน ใช้ในครัวเรือน การเกษตรยังชีพ ตามจารีตประเพณี หรือการรักษาระบบนิเวศ บรรเทาสาธารณภัย ให้ใช้นํ้าสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ส่วนแบบที่ 2 คือ เพื่อการเกษตรแบบพาณิชย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผลิตไฟฟ้า ประปา หรือแบบที่ 3 กิจการขนาดใหญ่ใช้ปริมาณมาก ครอบ คลุมพื้นที่กว้างขวาง หรืออาจกระทบข้าม ลุ่มนํ้า ต้องขออนุญาตและมีค่าธรรมเนียมการใช้นํ้าคือ ค่าใบคำ ขอฉบับละ 100 บาท ใบอนุญาตประเภท 2 ฉบับละ 1 หมื่นบาท และใบอนุญาตประเภท 3 ฉบับละ 5 หมื่นบาท

ร่างกฎหมายนี้ถูกท้วงติงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มเกษตรกร ที่เดิมใช้ประโยชน์จากนํ้าสาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาก่อน ร้องว่าทำไมต้องมาเสียค่านํ้าที่มาจากธรรมชาติ รวมทั้งไม่แน่ใจว่าการใช้นํ้าปริมาณไหนจัดเป็นการใช้แบบเกษตรยังชีพ ขนาดไหนจัดเป็นการเกษตรเชิงพาณิชย์

ด้านหน่วยงานรัฐก็ชี้ว่า วางหลักเกณฑ์นี้ขึ้นเพื่อความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะปัจจุบันรายใหญ่มีความพร้อมมากกว่า สามารถใช้ประโยชน์จากนํ้าสาธารณะได้มากกว่ารายเล็ก เช่น ฟาร์มขนาดใหญ่ สนามกอล์ฟ และอาจใช้อย่างไม่ประหยัด ไม่เหลือพอให้ใช้กันอย่างทั่วถึง จึงต้องคิดค่านํ้า แต่ยืนยันว่าการเกษตรรายย่อยจะไม่เดือดร้อนหรือต้องแบกภาระ

กมธ.ได้พิจารณาร่างฯ ซึ่งมี 100 มาตราเสร็จแล้ว และทบทวนใหม่ 2-3 รอบ โดยใช้เวลาผ่านไปมากกว่า 1 ปีแล้ว แต่เสียงสะท้อนจากกมธ. ก็ยังพูดไม่เต็มปากว่า จะได้ข้อสรุปพร้อมส่งให้ที่ สนช.พิจารณาในวาระ 2 และ 3 ได้เมื่อไหร่
96985989 ยันภาษีที่ดินใหม่คลอดแน่

ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นร่างกฎหมายร้อนอีกฉบับที่ กมธ.ถกแล้วถกอีก จนล่าสุดได้ขอที่ประชุมสนช.ขยายเวลาการพิจารณาเป็นครั้งที่ 8 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่ยังไม่รู้ว่าครบกำหนดแล้วจะขอขยายเป็นครั้งที่ 9 หรือไม่ โดย กมธ.ระบุพิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ยังค้างพิจารณาข้อท้วงติงบางประเด็นของกมธ.ตรวจพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่อยู่ในวงงานของสนช. และข้อเสนอเพิ่มเติมของกรรมการร่วมภาคเอกชน

รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายภาษีฉบับนี้เพื่อให้ใช้แทนกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตั้งเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้เพียงพอกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อม ลํ้า ทำให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ และทำให้มีภาษีจากฐานของทรัพย์สิน

ร่างกฎหมายฉบับนี้จุดประเด็นถกเถียงมายาวนานตั้งแต่กำลังยกร่าง และมีการปรับแก้ไปมาตลอดกระบวนการ โดยการจัดเก็บภาษีจะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 3 ประเภทคือ ที่พักอาศัย กำหนดเพดานอัตราภาษีไม่เกิน 2% ที่ดินทำเกษตรกรรม ไม่เกิน 0.2% ที่ดินอื่นคือเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ไม่เกิน 2% และที่ดินรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ ไม่เกิน 2% หากเกิน 3 ปีจะเพิ่มอัตราภาษีเป็นขั้นบันได 0.5-5% โดยที่พักอาศัยและที่ดินเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี

ระหว่างการพิจารณาของ กมธ. มีผู้เสนอว่าการยกเว้นภาษีที่ 50 ล้านบาทลงมานั้นสูงไป เขตชนบทห่างไกลอปท.แทบไม่มีรายได้เลย พิจารณาให้ปรับลดมาเป็นมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ท้ายสุดกมธ.สรุปกลับเป็นที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทเช่นเดิม

ขณะที่อัตราการจัดเก็บแต่ละประเภทก็ปรับลดยกแผง โดยที่พักอาศัยเหลือไม่เกิน 1% ที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15% ที่การพาณิชย์-อุตสาหกรรม เหลือ 1.2% ที่รกร้างเหลือ 1.2% และอัตราเพิ่มหลังปีที่ 3 เหลือ 0.3-3%

รวมทั้งมีบทเฉพาะกาลกำหนดเพดานการจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรกหลังกฎหมายบังคับใช้ใน 6 กลุ่ม โดยกำหนดเพดานอัตราและมูลค่าที่ดินเป็นขั้นบันไดในการประเมินภาษี ยกเว้นภาษีสำหรับที่เพื่อการเกษตรของบุคคลธรรมดา 3 ปี บรรเทาภาระภาษีหากภาระภาษีตามกฎหมายใหม่สูงกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม ให้ผ่านชำระภาระภาษีส่วนเกินได้ เป็นต้น

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมา ธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขอขยายการพิจารณาถึงสิ้นเดือนกันยายนแล้ว คาดว่าจะเสนอให้ สนช.พิจารณาในวาระ 2 และ 3 ได้

[caption id="attachment_306361" align="aligncenter" width="503"] นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ  รมช.คลัง นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ
รมช.คลัง[/caption]

ร่างกฎหมายคุมรสก.คุกรุ่น

เงียบๆ ในชั้น กมธ. แต่การพิจารณาก็ยืดยาวมานับแต่ สนช.เห็นชอบในหลักการวาระแรกไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 โดยได้ขอขยายเวลาไป 4 ครั้ง ครบกำหนดวันที่ 11 สิงหาคมนี้แล้ว ต้องขอที่ประชุมสนช.ขยายอีกเป็นครั้งที่ 5 ไปอีก 90 วัน

ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... นี้ กระทรวงการคลังเป็นผู้ยกร่างเพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และงบลงทุนของประเทศ มาจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเกือบครึ่ง ที่ผ่านมาการกำกับดูแลต่างคนต่างทำ ไม่เชื่อมโยงเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ขาดความชัดเจนโปร่งใสการกำกับดูแลที่ดี

สาระสำคัญคือให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) เป็นบอร์ดระดับชาติ กำกับนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ มีความต่อเนื่อง ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง และกำหนดบทบาทที่ชัดเจนเพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลกัน โดยมีเป้าหมายรัฐวิสาหกิจ 11 แห่งที่อยู่ใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และที่กระทรวง การคลังถือหุ้น 100% โดยจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมารับโอนหุ้นที่เดิมกระทรวงการคลังถืออยู่มาดูแลแทน โดยบรรษัทรัฐวิสาหกิจจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ กำกับนโยบายของรัฐวิสาหกิจ และกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่กระทรวงการคลังหรือส่วนราชการต้นสังกัดทำหน้าที่เป็นกรรมการบริษัท กำกับติดตามในเรื่องการดำเนินงาน โดยมีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่ได้รับ ทำให้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจน แทนโครงสร้างเดิมที่บทบาทหน้าที่ทับซ้อนกันอยู่

แต่มีความเห็นต่างว่า การตั้งซูเปอร์บอร์ดและบรรษัทรัฐ วิสาหกิจขึ้นมานั้นเป็นการรวมศูนย์ รวบหุ้น 11 รัฐวิสาหกิจที่มีทรัพย์สินรวมกว่า 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชนมาอยู่ในมือ เกรงว่าจะเป็นการแอบแฝงแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ผ่องถ่ายทรัพย์สินรัฐให้เอกชน โดยอำพรางโดยการที่บรรษัทรัฐวิสาหกิจเรียกเพิ่มทุน แต่รัฐไม่สามารถเพิ่มทุนหรือไม่ต้องการเพิ่มทุน แต่เปิดทางให้เอกชนเข้าถือแทนในที่สุด ซึ่งองค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจฮึ่มๆ ตั้งท่าก่อหวอดค้านได้ตลอดเวลา

ร่าง ก.ม. 4 ชั่วโคตรรอเวลา

นอกจากนี้ยังมีร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือถูกเรียกว่า กฎหมาย 4 ชั่วโคตร คือ กำหนดห้ามคู่สมรสหรือญาติของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยกำหนดและนิยามบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ร่างกฎหมายปราบโกงนี้แกนนำรัฐบาลกล่าวยํ้าบ่อยครั้ง ว่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดการหาประโยชน์โดยมิชอบในวงราชการ ช่วยให้ดัชนีความโปร่งใสของไทยมีอันดับที่ดีขึ้น ในชั้นกมธ.ก็ลงรายละเอียดกันมาก ขอขยายเวลาพิจารณาแล้ว 4 ครั้ง ครบกำหนด 11 สิงหาคมนี้ และจะต้องขอขยายเป็นครั้งที่ 5 อีกหรือไม่?

ข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมาย 30 ฉบับที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกมธ. ที่ส่วนใหญ่มีกำหนดพิจารณา 60 วัน ก่อนจะเสนอกลับที่ประชุมสนช.พิจารณาในวาระ 2 และ 3 เพื่อเห็นชอบประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ท่ามกลางความหวังเรื่องการปฏิรูปประเทศ ว่าจะเกิดขึ้นจากกฎหมายใหม่ที่เป็นผลงานของ สนช.

|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3392 ระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค.2561
e-book-1-503x62