ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับเพิ่มสวนทางคาดการณ์

16 ส.ค. 2561 | 02:58 น.
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน  ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2561

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขึ้นมาแตะระดับ 414 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มไปแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2541 ที่ระดับร้อยละ 98.1 ก็ตาม

- สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตและความต้องการใช้น้ำมันของโลก ล่าสุดสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ได้เปิดเผยว่า ปริมาณการค้าโลกได้เติบโตสูงสุดในเดือนม.ค. 61 ที่ร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาของปีก่อนหน้า แต่ได้ปรับตัวลดลงเหลือระดับร้อยละ 3 ในช่วงเดือนพ.ค. 61 ที่ผ่านมา

- Reuters ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. 61 ที่ผ่านมา ประเทศจีนไม่มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. และ ก.ค. 61 ประเทศจีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เฉลี่ย 300,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นผลมาจากผู้นำเข้ายังคงกังวลว่า รัฐบาลจีนจะเพิ่มน้ำมันดิบเข้าไปในรายชื่อสินค้าเพื่อตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

+ นักลงทุนยังคงจับตาดูผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของหสรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลในเดือนพ.ย. 61 นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลทำให้การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านลดลงสูงสุดประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2562

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้จะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากอินโดนีเซีย ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นน้ำมันในอินเดีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดาคาดจะกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน ส.ค. 61

การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกและนอกโอเปกคาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมากำลังการผลิตจากซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รัสเซีย การผลิตคาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน

ปริมาณการผลิตและส่งออกของลิเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเริ่มคลี่คลายลง หลังลิเบียประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมัน El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 90,000 บาร์เรลต่อวัน

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์ e-book-1-503x62