รับมือแรงกระแทกเศรษฐกิจโลก

15 ส.ค. 2561 | 03:00 น.
56599589 ไม่ได้เป็นแค่ความตึงเครียด ระดับแค่การเผชิญหน้ากันธรรมดา ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในทางการค้า แต่ 2 ฝ่ายเปิดฉากตอบโต้กันรุนแรงกลายเป็นสงครามการค้าไปแล้ว โดยการเก็บภาษีของสหรัฐฯต่อสินค้าจีน ได้ส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับผู้ประกอบการภายในของจีนเองและกระจายตัวไปยังประเทศอื่น รวมทั้งไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตสนับสนุนอุตสาหกรรมจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ถึงแม้จะมีโอกาสอยู่บ้างในด้านการส่งสินค้าไปทดแทนกลุ่มสินค้าที่ 2 ฝ่ายตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน แต่มิอาจถมช่องว่างได้เต็มในทันที 561000003396801 กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า สงครามการค้าเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ 2 มหาอำนาจเท่านั้น แต่ส่งผลกระเทือนไปยังประเทศอื่นหรือลุกลามไปทั้งโลกตามลักษณะ ของโลกไร้พรมแดนในปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในประเทศหนึ่ง ส่งผลไปยังอีกประเทศเป็นลูกโซ่เชื่อมโยงกัน

การตั้งกำแพงภาษีและนโยบายกีดกันการค้าที่สหรัฐฯ นอกจากกระทำกับจีนแล้ว สหรัฐฯยังข่มขู่และขยายวงไปสู่คู่ค้าสำคัญทั้งสหภาพยุโรป เม็กซิโก แคนาดา แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯเช่นเดียวกัน ซึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในอดีตประเด็นจุดชนวนเริ่มต้นจากการถือลัทธิกีดกันการค้า ก่อนขยายเป็นสงครามการค้า การเงิน นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลก
090861-1927 เพิ่มเพื่อน

นอกจากสงครามการค้าที่กำลังดุเดือดแล้ว ล่าสุดเกิดวิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในตุรกี โดยตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงและมีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น เศรษฐกิจอ่อนแอ เงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมาย ต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการทำธุรกิจแพงขึ้นมาก ส่งผลให้ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าลงต่อเนื่องเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ความวิตกกังวลต่อค่าเงินตุรกี ส่งผล กระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดไปเมื่อวันจันทร์ร่วงลง 440.65 จุด ดัชนีหั่งเส็ง ฮ่องกงร่วงลง 430.05 จุด และตลาดหลักทรัพย์ไทยเปิดตลาดเช้าวันอังคารร่วงลงไป 20 จุดทันทีเช่นเดียวกัน แน่นอนเหตุเกิดในตุรกีที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรปสูง ย่อมส่งผลกระเทือนตามมาทั้งในแง่การเงิน การค้าและขยายวงไปทั่วโลก

รัฐบาลต้องมีวอร์รูมที่คอยติดตามสถานการณ์ในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อการปรับแผนให้มีความยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกที่มาจากเศรษฐกิจโลกได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้ส่งผลกระทบไปถึงฐานส่วนใหญ่ของประเทศ โดยต้องประเมินสถานการณ์จำลองในขั้นเลวร้ายสุดที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยและถ้าเกิดขั้นเลวร้ายสุด จะมีทางออกอย่างไร หรือระดับรองลงมา มีมาตรการเช่นไร ในการนำพาประคับประคองเศรษฐกิจไปให้ได้ โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ต้องมีมาตรการบริหารจัดการ มากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|ฉบับ 3392 ระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว