เปิดโมเดลศูนย์ซ่อม‘TG’ อู่ตะเภา-ดอนเมืองปั๊มรายได้ฝ่ายช่างยั่งยืน

15 ส.ค. 2561 | 08:48 น.
จากการขยายตัวของยอดสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เติบโตราว 5-10% ต่อปี ประกอบกับอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO : Maintenance, Repair and Overhaul) ในเอเชีย มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ราว 9-10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ ชิงมาร์เก็ตแชร์อยู่ราว 6%

ดังนั้นการปักหมุดโครงการ “TG MRO Campus” ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ณ สนามบินอู่ตะเภา ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 การบินไทยก็หวังว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวราว 4% ในช่วง 10 ปีแรกของการเปิดให้บริการ

ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ทำให้ศูนย์ซ่อมของการบินไทย ที่ดอนเมือง ขยายศักยภาพในธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

 

1521090841004
ชู 2 โครงการปั๊มรายได้

ปัจจุบันการบินไทยมีรายได้จากการซ่อมบำรุงอากาศยาน สำหรับการรับลูกค้าภายนอกอยู่ที่ราว 3 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งอยู่ที่สนามบินดอนเมืองเป็นหลัก เนื่องจากการซ่อมเครื่องบินส่วนใหญ่ จะต้องซ่อมเครื่องบินในฝูงบินของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เวลาที่เหลือจึงจะสามารถรับซ่อมให้แก่สายการบินลูกค้าภายนอกได้นั่นเอง แต่ต่อไปโมเดลนี้กำลังจะเปลี่ยนไป

เนื่องจากการบินไทย จะมีการเติบโตของรายได้จากฝ่ายช่างอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นรายได้ที่จะสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการพึ่งพารายได้ จากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ที่ไม่เพียงมาร์จินตํ่า แต่ยังมีการแข่งขันสูงอีกด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ดังนั้นการลงทุนใหม่ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมี 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการ “TG MRO Campus” ที่สนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ที่การบินไทยจะร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบินระดับโลก ในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นสมาร์ท แฮงการ์ และเป็นศูนย์ซ่อมที่มีความทันสมัย ระยะแรกจะรองรับการซ่อมเครื่องบินรุ่นใหม่ทั้งของแอร์บัสและโบอิ้งได้ 80-100 ลำต่อปี (ขึ้นกับขนาดของเครื่องบิน) รวมถึงการพ่นสีอากาศยาน ที่ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2565

2. โครงการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ของการบินไทย ภายในศูนย์ซ่อมของการบินไทยที่ดอนเมือง เพื่อให้บริการซ่อมเครื่องยนต์ตามโปรแกรมโทเทิล แคร์ ของโรลส์รอยซ์สำหรับเครื่องยนต์เทรนท์ 700 ที่ติดตั้งในเครื่องบินรุ่นแอร์บัสเอ 330 และเครื่องยนต์เทรนท์ 1000 ที่ติดตั้งในโบอิ้ง787 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ด้วยการซ่อมบำรุงเครื่อง ยนต์เทรนท์รุ่นดังกล่าวสำหรับฝูงบินของการบินไทยก่อน ตามมาด้วยการให้บริการลูกค้าของโรลส์-รอยซ์ ในต้นปี 2562
ดึงพันธมิตรร่วมทุนพ.ย.นี้

ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ ขณะนี้ได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างการบินไทยและกองทัพเรือ ในการให้สิทธิแก่การบินไทย เพื่อประกอบการ MRO ในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็น หนึ่งในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ควบคู่ไปกับพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับการ บินไทยตามแนวทาง PPP

ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ 2 ราย ในการเจรจาเข้ามาร่วมลงทุน โดยหนึ่งในนั้นคือแอร์บัส ที่การบินไทยได้ลงนาม JV Company Principle หรือการร่วมลงทุนในหลักการ

“การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับการบินไทย MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา น่าจะคัดเลือกแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ โครงการนี้การบินไทยและพันธมิตรจะร่วมลงทุนอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงซ่อมเครื่องบิน (Hangar) มูลค่าราว 4 พันล้านบาท (ลงทุนสัดส่วน 50:50) ส่วนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับโครงการ MRO อาทิ โรงซ่อมอากาศยาน จะของบสนับสนุนจากรัฐบาลราว 6,333 ล้านบาท” นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

090861-1927
จ่อลงทุนเฟส2อีก3พันล.

ทั้งนี้โครงการนี้การบินไทย คาดว่าจะคืนทุนในเวลา 11 ปีนับจากปี 2565 ระยะแรกของการลงทุน MRO ที่อู่ตะเภา การลงทุนเฟสแรกระหว่างการบินไทยและพันธมิตร จะประกอบด้วยโรงซ่อมอากาศยาน ที่สามารถรองรับเอ380 ได้ 3 ลำ โรงพ่นสีเครื่องบิน เริ่มต้น จะรองรับการซ่อมเครื่องบินของการบินไทยส่วนหนึ่ง และรับซ่อมให้ลูกค้านอกเริ่มต้นที่กว่า 10 ลำ หรือเติบโต 2% ต่อปี จากนั้นก็จะโตไปเรื่อยๆ และเมื่อธุรกิจโตขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนในระยะที่ 2 โดยคาดว่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างการบิน ไทยและพันธมิตร จะอยู่ที่ราว 2,903 ล้านบาท ในการขยายโรงซ่อมเครื่องบินเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเพิ่มรายได้จากธุรกิจนี้ในช่วง 50 ปีนี้ (ตารางประกอบ)

MP22-3391-AA

การให้บริการซ่อมเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา จะเน้นเครื่องบินลำตัวกว้าง เครื่องบินรุ่นใหม่ เช่น แอร์บัสเอ350 เอ380 โบอิ้ง787 รุ่นใหม่ ที่จะเริ่มจากตลาดในประเทศก่อน รวมถึงลูกค้าสายการบินในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก เช่น เวียดนาม ที่มีการสั่งซื้อเครื่องบินเป็นจำนวนมาก ประกอบกับค่าแรงของการซ่อมเครื่องบินที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีราคาสูง ก็เป็นอีกโอกาสในการดึงลูกค้า มาซ่อมบำรุงเครื่องบินที่อู่ตะเภา
ขยายงานซ่อมที่ดอนเมือง

ส่วนการขยายการลงทุนในส่วนของศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทย ที่ดอนเมืองนั้น เมื่อศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่สนามบินอู่ตะเภาเปิดให้บริการ การ บินไทยก็จะสามารถย้ายเครื่องบินในฝูงบิน ออกไปซ่อมที่อู่ตะเภาได้ ก็จะทำให้มีพื้นที่เหลือ ที่จะสามารถรองรับการซ่อมเครื่องบินให้แก่ลูกค้านอกได้เพิ่มขึ้น โดยจะโฟกัสการซ่อมเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินต้นทุนตํ่าส่วนใหญ่ใช้บริการอยู่ เพราะเหมาะกับสายการบินที่ใช้บริการที่สนามบินดอนเมือง

นอกจากนี้ภายในศูนย์ซ่อมของการบินไทยที่ดอนเมือง การบินไทยยังมีความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้บริการซ่อมเครื่องยนต์ตามโปรแกรมโททัล แคร์ ของโรลส์-รอยซ์สำหรับเครื่องยนต์เทรนท์ 700 ที่ติดตั้งในเครื่องบินรุ่นแอร์บัสเอ 330 และเครื่องยนต์เทรนท์ 1000 ที่ติดตั้งในโบอิ้ง787 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ด้วยการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เทรนท์รุ่นดังกล่าวสำหรับฝูงบินของการบินไทยก่อน ตามมาด้วยการให้บริการลูกค้าของโรลส์- รอยซ์ ในต้นปี 2562

1521090839351
ศูนย์โรลส์-รอยซ์พันล้าน

การจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จะใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท โดยในระยะแรกจะลงทุนอุปกรณ์ราว 500 ล้านบาท รองรับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เทรนท์ 1000 และอีกราว 500 ล้านบาท สำหรับการลงทุนซ่อมบำรุงเครื่อง ยนต์รุ่นเทรนท์700 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รุ่นยอดนิยมของโรลส์-รอยซ์ โดยศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ดังกล่าว ในระยะแรกจะรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อยู่ที่ 30 เครื่องยนต์ต่อปี ขณะที่ศักยภาพสูงสุดรองรับการซ่อมบำรุงได้ 70-80 เครื่องยนต์ต่อปี คาดว่าจะทำรายได้ในปี 2562 ราว 1 พันล้านบาท และในปี 2563 ราว 3-4 พันล้านบาท

ดังนั้นหากรวมรายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องยนต์โดยรวมของการบินไทย ที่มีรายได้ราว 3 พันล้านบาทต่อปี ก็คาดว่าระหว่างที่ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภายังไม่ได้เปิดให้บริการ การ บินไทยจะมีรายได้จากการซ่อมบำรุงจาก 4-5 พันล้านบาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ในปี 2562 เพิ่มเป็น 7-8 พันล้านบาทยังไม่หักค่าใช้จ่ายในปี 2563 ยังไม่นับรวมการร่วมมือระหว่างการบินไทยและโรลส์-รอยซ์ จะขยายโครงการ Trent XWB Engine Development Testing หรือการทำ Experimental Test ของเครื่องยนต์ Trent XWB ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่ใช้งานกับเครื่องบินแอร์บัสเอ350 ไปยัง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
รายงาน : ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3392 ระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62