เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | ประชาคมอาเซียนย่างเข้าปีที่ 52 และไทยจะเป็นผู้นำ

15 ส.ค. 2561 | 04:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

8 สิงหาคมของทุกปี คือวันก่อตั้ง อาเซียน หรือสมาคมประชาชาติ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) ปีนี้อาเซียนเฉลิมฉลองการก่อตั้งอาเซียนครบรอบ 51 ปี และตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2018 จนถึงสิงหาคม 2019 ประเทศไทยก็จะได้รับเกียรติอีกครั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน รวมทั้งการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนอีกมาก กว่า 160 การประชุมตลอด 1 ปีที่เราเป็นเจ้าภาพ


สัญลักษณ์อาเซียน

กรมอาเซียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติของประเทศไทย ก็เริ่มต้นการย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 52 ของอาเซียน โดยการจัดพิธีเชิญธงอาเซียนขึ้นสู่ยอดเสาธงหน้ากระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2018 ต่อด้วยกิจกรรมการตอบปัญหาอาเซียนของนักเรียนจากทั่วประเทศ งานเปิดตัวหนังสือที่เป็นบันทึกประวัติ ศาสตร์การทูตของประเทศไทย ที่เกิดจากการสัมภาษณ์ปูชนีย บุคคลนักการทูตไทยที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนในลักษณะของ Oral History เพื่อเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญให้คนรุ่นเราและรุ่นต่อๆ ไปได้เรียนรู้ หนังสือสำคัญเล่มนี้ที่คนรักอาเซียนควรอ่าน และคนที่ไม่รักอาเซียนยิ่งต้องอ่าน ชื่อ "50 ปีของไทยในอาเซียน" โดยมี ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ดร.ธนศักดิ์ วหาวิศาล และ ดร. สมเกียรติ อริยปรัชญา เป็นทีมบรรณาธิการ และร่วมกันผลิตโดยกระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต หนังสือเหล่านี้สามารถอ่าน Online ได้จาก http://www.mfa.go.th/…/informati…/ 88218-THAILAND50ASEAN.html

ต่อจากงานเปิดตัวหนังสือ ก็เป็นงานเสวนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ การเสวนาในหัว ข้อ วาระประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 : โอกาสและความท้าทาย โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ท่านอธิบดีกรมอาเซียน ดร.สุริยา จินดาวงษ์, ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ และ ดร.จิตริยา ปิ่นทอง โดยข้อสรุปที่น่าสนใจของการเสวนาและผมขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมในบางประเด็นดังนี้

สืบเนื่องจากการที่ประเทศ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนในปี 2019 ต่อเนื่องจากประเทศสิงคโปร์ในปีนี้ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว วาระประธานอาเซียนของไทยในปี 2019 จะมีความสำคัญและความหลากหลายที่ต้องอาศัยการเตรียม การจากทุกภาคส่วนของสังคมรวมถึงภาควิชาการ ซึ่งจะต้องจัดบทบาทของตนพร้อมวาระประเด็นนำเสนอให้สอดคล้องกับความต้องการในเวทีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีการประมาณการกันว่าจะมีการประชุมอาเซียนเกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า 160 การประชุม ซึ่งประกอบการประชุม สุดยอดผู้นำ 2 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรีมากกว่า 20 ครั้ง และจะมีตัวแทนจากมากกว่า 30 ประเทศร่วมเข้าประชุมตลอดปี 2019

จนถึงปัจจุบันบทบาทของประเทศเจ้าภาพจะตกอยู่กับกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานประสานวาระประธานอาเซียนของไทยในปี 2019 โดยรวม ทั้งนี้ในเบื้องต้นกรมอาเซียนได้มีกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ไว้ 3 เป้า ได้แก่ การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และการมองไปสู่อนาคต โดยมียุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ความเชื่อมโยง (Connectivity) ความยั่งยืน (Sustainability) และ การวางแผนสำหรับอนาคต (Future Orientation)

สำหรับประเทศไทย บท บาทที่สำคัญในอดีตที่ทำให้เรามีส่วนสำคัญในการแสดงภาวะผู้นำอาเซียน ท่านอธิบดี ดร.สุริยา ได้กรุณาสรุปออกมาเป็น 3 บท บาทหลัก คือ

1. Putting Out the Fire หรือการดับไฟแก้ปัญหาวิกฤติในภูมิภาคซึ่งได้เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต เช่น ปัญหาการเมืองความมั่นคงในช่วงสงครามอินโดจีนอันนำไปสู่ Paris Peace Agreement และการเลือกตั้งในประเทศกัมพูชาในปี 1992-1993 ปัญหาการแก้วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในปี 1997 ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือ ASEAN+3, ความริเริ่มเชียงใหม่ (CMIM) และ ASEAN Macroeconomic Research Office (AMRO) ในปี 2019 เรื่องที่เราอาจจะต้องดับไฟ อาทิ ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ Cyber- security สงครามการค้า การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการทหารในภูมิภาค Indo-Pacific

2. Bridging Role การสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นในภูมิภาคจนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยุ่งยากและหลายๆ ฝ่ายไม่เชื่อว่าจะสามารถหาทางออกได้ แต่ไทยก็สามารถทำได้ อาทิ กลยุทธ์อันชาญฉลาดในการหาหนทางให้รัฐบาลทหารพม่าในปี 2008 ยอมเปิดประเทศ ให้ไทยและตัวแทนจากอาเซียนผ่าน International Commission forHumanitarian Intervention and State Sovereignty สามารถนำความช่วยเหลือจากนานาประเทศเข้าไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงไซโคลน Narisa ถล่มตอนใต้ของพม่า ในช่วงที่พม่ายังปิดประเทศได้ ในปี 2019 การเชื่อมโยงจนสามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่ซับซ้อน อาทิ เบงกาลี/โรฮิงญา ภัยจากผู้ก่อการร้าย เช่น ที่เกิดขึ้นใน Battle of Malawi และการหาข้อสรุปเพื่อลงนามและบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรี Regional
Comprehensive Economic Partnership (RCEP, ASEAN+6) น่าจะเป็นความท้าทายของประเทศ ไทยในฐานะประเทศอาเซียน

3. Systematic Change การปรับเปลี่ยน/เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจะต้องเป็นการมองไปในระยะยาวมากกว่าการมุ่งเฉพาะระยะสั้น (shortermism) ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นใหญ่เรื่องการสร้างความยั่งยืน (sustainability) ให้กับอาเซียนในมิติที่จะต้องขบคิดกัน ดังที่ไทยเคยสร้างเกียรติประวัติบางส่วนในการเป็นเจ้าภาพครั้งก่อน เช่น ในเรื่องพิมพ์เขียวความเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity)

เพื่อบรรลุภารกิจในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 ไม่ใช่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีบทบาทในปีนี้และปีหน้า หากแต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยได้ริเริ่มหลายๆ โครงการมาแล้วตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว และจะสามารถเปิดตัวได้ในปีหน้าที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจะเกิดขึ้นทันที เพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียน อาทิ ศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ASEAN Center for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center for Military Medicine: ACMM)

ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์(ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Training Centre for Social Work and Social Welfare : ATCSW) คลังเก็บสิ่ง ของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA)

จะแสดงให้เห็นได้ว่าสิ่งที่ผมเล่ามาจะทำให้ประเทศไทยของเราได้แสดงภาวะผู้นำอีกครั้งในเวทีที่ใกล้ชิดและสำคัญที่สุดสำหรับคนไทย นั่นคือ เวทีประชาคมอาเซียน

 

| เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ |โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3392 ระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคม 2561



e-book-1-503x62