ผ่าปมโละผู้ตรวจเลือกตั้ง นักวิชาการอัด ‘สนช.’ ไม่โปร่งใส!

14 ส.ค. 2561 | 07:25 น.
 

DSC_0012 ความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน เพื่อเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเพิ่มมาตรา 28/1 กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนการให้ กกต.ออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเอง โดยอ้างว่าอาจจะไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตัวแทน 36 สนช.ได้ยื่นเสนอแก้ไข พ.ร.ป.กกต.ต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.แล้ว

ขณะที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ยังคงเดินหน้ากระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อมูลจากจังหวัดต่างๆ ว่าผู้ผ่านการคัดเลือกมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามหรือไม่คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ เมื่อถึงวันนั้น กกต.ชุดปัจจุบันพ้นหน้าที่ไปแล้ว กกต.ชุดใหม่จะเป็นผู้ลงนามประกาศรับรอง และถ้าปรากฏว่ามีหลักฐานที่น่าเชื่อว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งขาดคุณสมบัติ กกต.สามารถปลดได้ทันที
526595996 การเสนอแก้กฎหมายปมผู้ตรวจการเลือกตั้งของ 36 สนช. ดังกล่าว กลายเป็นประเด็นร้อนทำให้สนช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก สังคมอย่างหนักว่าเหตุผลการแก้ไขกฎหมายไม่เพียงพอ ถึงขั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถามกลับ สนช.อย่างเจ็บๆ คันๆ ถึงมาตรฐานการออกกฎหมายของ สนช.

“ถ้าคนที่ กกต.เลือกมามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เช่น มี ความสัมพันธ์กับนักการเมือง หรือพรรคการเมือง หรือไม่เป็น กลาง ควรมาอยู่ในขั้นตอนกระบวนการที่จะไปเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มาล้มโต๊ะ และกกต.ชุดใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นเหตุผลที่สนช.เสนอแก้ไข”

ไม่ว่าจะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายการเมือง แต่ก็ยังมีเสียงจาก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 1 ใน 36 สนช.ที่ยื่นเสนอแก้กฎหมาย กกต.ออกมายืนยันว่า กกต.ชุดปัจจุบันเร่งมติเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและเป็นการฉวยโอกาสเพราะกกต.ชุดใหม่ใกล้เข้ามาทำงานแล้ว

พร้อมกับยอมรับว่าการเสนอแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.ครั้งนี้ไม่ง่าย ต้องผ่านขั้นตอนการฟังความเห็นประชาชน ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตั้งผ่านขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาล และการพิจารณาของสนช. ดูแนวโน้มคงแก้ไขไม่ทันการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
1534227447198 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สะท้อนมุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องนี้สนช.เป็นคนเซตซีโร่ กกต. ย่อมคาดเดาได้อยู่แล้วว่า จะมีการดำเนินการในเรื่องใดบ้าง ทั้งในส่วนของ กกต.ชุดเดิมและชุดใหม่ จริงๆ ไม่ต้องคาดเดาก็ได้ เปิดกฎหมายดูก็รู้ว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องทำบ้าง ในเมื่อสนช.เซตซีโร่กกต.ชุดเดิม แล้วอยากให้กรรมการชุดใหม่ทำอะไร ทำไมไม่เขียนในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนไปเลย สนช.ก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องมีอยู่ ทำไมไม่เขียน

“ที่มีการเอากฎหมายเข้าสภาช่วงแรกๆ ทำไมไม่เขียนให้ชัดเจน ไม่เห็นจะเขียนยากอะไร เช่น เขียนว่าทั้งนี้ให้การเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ก็จบแล้ว ไม่งั้นก็เป็นประเด็น ตั้งประธานก็เป็นประเด็น ทำไมไม่ตั้งที่ กกต. ทำไมไปตั้งที่ สนช.”

ในแง่ข้อกฎหมายสนช.สามารถเสนอแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ได้ไม่มีปัญหา ซึ่งต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา แต่ตอนนี้ไม่มี 2 สภา มีสภานิติ บัญญัติแห่งชาติเท่านั้น จึงต้องเกินกึ่งหนึ่งของสนช. สามารถทำ ได้อยู่แล้วถ้าจะทำ ยิ่งถ้าได้ไฟเขียว มาจากคนที่คุมก็น่าจะได้อยู่แล้ว

“ถ้าทำอะไรที่มันชัดๆ ใสๆ ดีกว่า เพราะจะทำให้คนนินทาได้ ว่าเขามาตั้งแง่กับคุณเพราะคุณไม่ได้ทำอะไรให้เขาไว้ใจ อย่าลืมว่าเวลาพูดถึงเรื่ององค์กรอิสระทำไมเขาไม่ไว้ใจ เพราะกฎหมายเดียวกัน นึกจะเซตซีโร่ กกต.ก็ทำ นึกอยากให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ต่อก็ให้อยู่ต่อ เป็นต้น เขาไม่รู้ว่าหลักของคุณอยู่ที่ไหน โยกไปโอนมา เขาก็ไม่ไว้ใจ พอจะแก้กฎหมายเขาก็ต้องตั้งแง่ว่าจะแก้เพราะอะไร” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
5965985 นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ระบุว่าความเคลื่อนไหวของ 36 สนช.จะส่งผลลบต่อ กกต.ชุดใหม่ มีผลลบต่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่จะเข้ามาใหม่ รวมทั้งมีผลลบต่อสนช.ด้วย เพราะทำให้รู้สึกถึงความไม่โปร่งใส แม้จะโปร่งใสหรือไม่ก็ตาม แต่เขารู้สึกได้ว่ามันไม่โปร่งใส ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา จะมีคนท้วงติง ตั้งประเด็น และวิพากษ์วิจารณ์

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่าขอเสนอแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.ไม่มีผลต่อระยะเวลาการเลือกตั้ง แต่จะมีผลต่อเรื่องของความโปร่งใสหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นพวกใครทางพรรคการเมืองเองก็คงไม่สบายใจเพราะมองว่าจะมีปัญหาตามมาอีก

ไม่ว่าการเสนอแนวทางคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งของ สนช.จะเป็นเจตนาดีที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง แต่เชื่อว่าสังคมมองไปไกลถึงจะส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งยืดออก ไปอีกหรือไม่ คราวนี้คงได้พิสูจน์ว่ารัฐบาลทำตามสัญญาจริงจังแค่ไหน!!

|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3391 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 ส.ค.2561
e-book-1-503x62