"พาณิชย์" จับมือแคนาดา ปฏิรูปการทำงานของ WTO แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า

13 ส.ค. 2561 | 12:01 น.
6D2F7D8A-EF3E-40BD-9118-7328BCCF8885 ไทย-แคนาดา ร่วมหารือปฏิรูปการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า หวังแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า ผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาคืบหน้า ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาท พร้อมสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และขอไทยเร่งผลักดัน FTA อาเซียน – แคนาดา โดยเร็ว

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือกับนายโจนาธาน ฟรีด ผู้แทนนายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ว่า นอกจากการหารือเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและแคนาดาแล้ว ยังได้หารือเรื่องข้อกังวลต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นในระบบการค้าพหุภาคี ที่ปัจจุบันการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ไม่คืบหน้า ขณะเดียวกัน เริ่มมีสมาชิก WTO บางประเทศหันมาใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวมากขึ้น ถือเป็นการลดทอนความสำคัญของ WTO ลง จึงเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรักษาบทบาทความสำคัญของ WTO ในการกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศไว้

[caption id="attachment_305447" align="aligncenter" width="503"] นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์[/caption]

เช่น ปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าของ WTO เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า ปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และการกำหนดให้สมาชิกแจ้งข้อมูลเมื่อมีการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้สมาชิกอื่นได้รับทราบทันท่วงที ผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาคืบหน้า ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ปรับปรุงขอบเขตอำนาจและการทำงานขององค์กรอุทธรณ์ของ WTO ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีกรณีที่การตัดสินคดีขององค์กรอุทธรณ์ไปกระทบสิทธิของสมาชิก WTO ตลอดจนเร่งคัดสรรสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของ WTO เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง 3 ใน 7 ตำแหน่งในปัจจุบัน เพื่อให้การตัดสินคดีอุทธรณ์ของ WTO เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงักลง เป็นต้น

[caption id="attachment_305446" align="aligncenter" width="503"] โจนาธาน ฟรีด ผู้แทนนายกรัฐมนตรีแคนาดา โจนาธาน ฟรีด ผู้แทนนายกรัฐมนตรีแคนาดา[/caption]

นางสาวชุติมา เสริมว่า ไทยยังแจ้งให้แคนาดาทราบว่าไทยมีความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งแคนาดาเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง โดยแคนาดาแจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทย และยินดีให้ข้อมูลกระบวนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยปัจจุบัน แคนาดาได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อให้สัตยาบันการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อรัฐสภาของแคนาดาแล้ว และคาดว่าจะสามารถยื่นสัตยาบันได้ภายในปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับได้ในต้นปี 2562 โดยหากไทยประสงค์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ก็สามารถยื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วมได้ตั้งแต่ที่ CPTPP มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

“นอกจากนี้ แคนาดาต้องการผลักดันให้อาเซียนเปิดการเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับแคนาดาโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างภูมิภาค โดยแคนาดาสามารถเป็นประตูเข้าสู่อเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป และสมาชิก CPTPP ให้อาเซียนได้ ขณะที่อาเซียนก็เป็นประตูให้แคนาดาสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA อาเซียนและแคนาดา” นางสาวชุติมา กล่าว
4545895 ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 15 ของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของแคนาดา ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย ในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 2,217 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย) โดยไทยส่งออกไปแคนาดาเป็นมูลค่า 1,432 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมด) มีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไทยนำเข้าจากแคนาดาเป็นมูลค่า 785 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.4 ของการนำเข้าทั้งหมด) โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ