ฟุกุชิมะบุกตลาดโลก คุมเข้มมาตรฐานเกษตร-ประมง (ตอนจบ)

13 ส.ค. 2561 | 14:37 น.
52656

การควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยโดยเฉพาะการตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสัตว์น้ำก่อนนำวางจำหน่ายในท้องตลาดเกิดขึ้นใน 2 ขั้นตอน ทั้งในส่วนของชาวประมงในรูปสหกรณ์การประมงที่มีห้องแล็บตรวจสอบเองเมื่อนำสัตว์น้ำมาขึ้นที่ท่าเรือและการตรวจที่ศูนย์ทดสอบของจังหวัด คุณโอตะ คัตสุฮิโกะ ผู้จัดการสหกรณ์ประมงเขตโซมะฟูตาบะ จังหวัดฟุกุชิมะ เปิดเผยว่า การคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยโดยสมัครใจของภาคเอกชนซึ่งอยู่ในฐานะผู้ผลิตนั้นเป็นเรื่องจำเป็น อย่าว่าแต่ชาวต่างชาติเลย แม้แต่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเอง จากการสำรวจล่าสุดก็ยังคงมีจำนวนมากที่รู้สึกในเชิงลบต่อปลาที่จับได้เขตฟุกุชิมะ

“มันเป็นเรื่องความคิดความเชื่อของคนซึ่งยากจะเปลี่ยน แต่เราก็พยายามทำในส่วนของเราอย่างเต็มที่ พยายามให้ข้อมูลที่โปร่งใส ชัดเจน กว่าที่ทุกคนจะยอมรับคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร”
PortSoma5


แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 7 ปีแล้วหลังเกิดเหตุการณ์กัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าในปี 2554  ทาง สมาพันธ์สหกรณ์ประมงจังหวัดฟุกุชิมะ ยังคงเข้มงวดมาตรฐานการตรวจสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี (ซีเซียมและแกมมา) โดยตั้งเกณฑ์มาตรฐานของตัวเอง (voluntary reference value)ไว้ที่ 50 Bq/kg และหากตรวจพบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีเพียงเกินกว่าครึ่งของเกณฑ์ดังกล่าว หรือเกิน 25 Bq/kg  ก็จะระงับการส่งจำหน่าย (self-imposed ban) เพื่อส่งกลับไปตรวจใหม่อย่างละเอียด แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ระดับประเทศก็ตาม (100 Bq/kg)

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประมงของจังหวัดฟุกุชิมะมีการส่งจำหน่ายทั่วประเทศญี่ปุ่น ราคาไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ประมงจากจังหวัดอื่นๆ ปลาที่ขึ้นชื่อของที่นี่คือพวกปลาตัวแบน ปลาลิ้นหมา ปลาตาเดียว และปลาไหลทะเล สมาชิกสหกรณ์ประมงเขตโซมะฟูตาบะมีเรือประมงสมาชิกจำนวน 450 ลำ เป็นเรือใหญ่สำหรับประมงน้ำลึก 23 ลำ นอกนั้นเป็นเรือขนาดเล็ก ซึ่งช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เรือใหญ่จะหยุดพักเพื่อเว้นช่วงให้สัตว์ทะเลได้เติบโตและมีปริมาณเพิ่มขึ้น”
PortSoma4
คุณโอตะอธิบายว่า นอกจากเรื่องการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคแล้ว เป้าหมายที่เป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมประมงของฟุกุชิมะก็คือ การเพิ่มปริมาณผลผลิตและทำอย่างไรจึงจะได้ราคาสูงขึ้น เพราะปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้นั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 13% ของที่เคยจับได้ก่อนเกิดอุบัติภัยปี 2554 และราคาก็ลดลงมา ยกตัวอย่างปลาฮิราเมะเคยจำหน่ายกิโลกรัมละ 7,000 เยน ปัจจุบันราคาอยู่ที่เพียง 3,000 เยน

flatfish “อันที่จริงปริมาณที่จับได้กับการขายในประเทศนอกเขตจังหวัดก็ถือว่าเต็มที่แล้ว ปริมาณที่จะขายในประเทศก็น้อยอยู่แล้ว นโยบายตอนนี้จึงไม่เน้นส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องของปริมาณไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องการปนเปื้อน เพราะปัจจุบัน ทั้งปลาและสัตว์น้ำอื่นๆที่พบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีสัดส่วนน้อยมาก และแม้ที่มีตรวจพบก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย”

เมื่อถามถึงรายได้ของชาวประมงในพื้นที่ พบว่าก่อนเกิดภัยพิบัติปี 2554 ชาวประมงเรือเล็กมีรายได้ประมาณ 20-30 ล้านเยนต่อลำ/ปี ปัจจุบันเหลือเพียง 13% ของตัวเลขดังกล่าว ซึ่งส่วนต่างก็ได้รับการชดเชยจากบริษัทเทปโก้ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ปัจจุบันนี้ก็ยังคงจ่ายเงินชดเชยอยู่ PortSoma2

การเยือน ตลาดเกษตรกรมิไรฮะคุไซคังเมเบะ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายพืชผลการเกษตร เช่น ผักผลไม้ เมล็ดพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์ประมง ข้าวสาร และสินค้าแปรรูปนานาชนิดรวมทั้ง สาเก ทำให้เราได้เห็นว่า การจำหน่ายผลิตผลการเกษตรและประมงของฟุกุชิมะซึ่งยังคงมีการตรวจสอบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ แม้ว่าความมั่นใจของผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจนเป็นปกติตั้งแต่ช่วง3ปีหลังอุบัติภัยแล้วก็ตาม

“เรามีสาขาร้านสหกรณ์สินค้าเกษตรแบบนี้ 30 สาขาในจังหวัด ลูกค้าเฉพาะสาขานี้มีราว 1,100 คน/วัน ในปีแรกๆหลังเกิดเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหล เราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคเลิกตื่นกลัวแล้วและเราก็โฟกัสไปที่ความสดใหม่ ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรและประมงของเรามีรสชาติชั้นเลิศ” คุณคาซึยะ สุดะ ผู้จัดการร้านกล่าว

AgriCo-opShop2

เมื่อพูดถึงเรื่องรสชาติชั้นเลิศแล้ว “ลูกพีช” หรือ โมโม่ ของจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งก็คือลูกท้อในภาษาไทย ถือว่าเป็นหนึ่งในผลิตผลการเกษตรที่สร้างชื่อให้กับจังหวัดมากที่สุด สภาพอากาศที่แตกต่างกันมากในจังหวัดฟุกุชิมะที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายแอ่งกระทะ ทำให้ผลไม้ของที่นี่มีรสชาติดี กลิ่นหอมหวาน ลูกท้อของฟุกิชิมะถูกคัดเลือกจำหน่ายและส่งออกตามระดับความหวาน น้ำหนัก และสีสัน


[caption id="attachment_305434" align="aligncenter" width="283"] HanedaMomoen2(YukimasaHaneda) ยุกิมาสะ ฮาเนดะ[/caption]

คุณยุกิมาสะ ฮาเนดะ เจ้าของสวนท้อเจนเนอเรชั่นที่สามของสวน “ฮาเนดะ โมโมเอ็น” เปิดเผยกับสื่อว่า หลังเกิดอุบัติภัยปี 2554 ชาวสวนท้อต่างร่วมแรงร่วมใจทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสี

“เรากวาดใบไม้ ถากผิวหน้าดินพลิกลงฝังกลบให้ลึกลงไป แล้วก็ถากเปลือกต้นท้อแต่ละต้นออกไป และทำทุกต้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสารกัมมันตรังสีเกาะผิวดินหรือเปลือกต้นท้อ เราส่งตัวอย่างลูกท้อเข้าห้องแล็บตรวจเป็นประจำ จนทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ของสวนเราได้รับมาตรฐานรับรองคุณภาพระดับโลก (Global G.A.P.) สามารถส่งออกต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่มีลูกท้อฮาเนดะจำหน่ายที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ปาร์ค ยอดส่งครั้งละ 50-60 กล่อง บรรจุกล่องละ 20 กิโลกรัม และมีการจัดส่งทุก 7-10 วัน”
HanedaMomoen5 คุณฮาเนดะ คาดหวังว่าจะส่งออกลูกท้อไปได้อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะไต้หวัน ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนฟุกุชิมะเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันทางการไต้หวัน (รวมทั้งจีนและฮ่องกง) ยังห้ามการนำเข้าผลผลิตการเกษตรและประมงจากจังหวัดฟุกุชิมะ แม้ว่าประเทศอื่นๆส่วนใหญ่จะนำเข้าภายใต้การตรวจสอบในระดับปกติแล้วก็ตาม

HanedaMomoen1 “เราคุมเข้มเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับปัจจัยเสริมด้านอื่นๆด้วย เช่น การหาตลาดใหม่ และการปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อให้ลูกท้อคงความสดใหม่เมื่อถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศ เช่น การใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อลดการออกซิเดชั่น ยืดเวลาการเน่าเสีย ลูกท้อสามารถเดินทางทางเรือมากับตู้คอนเทนเนอร์แบบพิเศษนี้ในเวลา 10-14 วันก็ยังคงคุณภาพสดใหม่ จึงทำราคาขายได้ถูกลงจากแพ็ค 2 ลูกราคา 400 บาท (ซึ่งเป็นราคาที่ขนส่งทางเครื่องบิน) เหลือเพียง 199 บาท เป็นต้น” เจ้าของสวนท้อ ฮาเนดะ โมโมเอ็น กล่าวทิ้งท้าย

Aoki3

คุณมิยามูระ ยาสุจิ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดฟุกุชิมะ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” พร้อมให้ข้อมูลว่า ปี 2560 ไทยและมาเลเซียนำเข้าลูกท้อจากจังหวัดฟุกุชิมะ 31 ตันและ 15 ตันตามลำดับ และลูกท้อฟุกุชิมะก็ครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในไทย โดยมีลูกท้อจากจังหวัดยามานาชิเป็นคู่แข่ง แต่ก็เป็นคนละสายพันธุ์กัน

“ผมคิดว่าอาหารการกินก็เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวนะครับ ผลไม้จากฟุกุชิมะส่งออกไปประเทศไทยมากขึ้น และคนไทยก็มาเที่ยวฟุกุชิมะมากขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 1-2 ปีมานี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า นับเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับสองรองจากไต้หวัน ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวจีนและเวียดนาม”   Aoki1 นอกจากผลไม้คุณภาพคัดสรรแล้ว เร็วๆนี้ อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ส่งออกจากจังหวัดฟุกุชิมะที่กำลังจะมาประเดิมในประเทศไทยเป็นที่แรกในบรรดาตลาดต่างประเทศ คือแบรนด์ผลไม้น้ำปั่น “คาริน” (Karin)ในเครือบริษัท อาโอกิ (Aoki) ซึ่งมีธุรกิจร้านผลไม้พรีเมี่ยม ร้านอาหารและเบเกอรี่ รวมทั้งบูธขายน้ำผลไม้ปั่น จำนวนรวม 211 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น (ในจำนวนนี้เป็นบูธน้ำผลไม้ “คาริน” 189 สาขา)

[caption id="attachment_305430" align="aligncenter" width="335"] Aoki2(NobuhiroAoki) โนบุฮิโระ อาโอกิ[/caption]

“เรากำลังจะมาเปิดบูธน้ำปั่นคารินสาขาแรกในห้างทาคาชิมาย่า ซึ่งอยู่ในโครงการ “ไอคอน สยาม” ในเดือนตุลาคมนี้ ผมเชื่อมั่นในคุณภาพของผลไม้และน้ำปั่นของเราว่ามีประโยชน์ต่อผู้บริโภค และมีรสชาติที่ดีจากส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติที่สุด ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นในประเทศไทย

กระบวนการนำเข้าผลไม้สดมายังประเทศไทยมีความเหมาะสมมากที่สุด แต่สูตรของเราจะใช้ผลไม้ไทยร่วมด้วย ผมหวังว่าภายใน 3 ปี เราจะขยายสาขา 5 สาขาแรกได้ในประเทศไทย สำหรับตลาดญี่ปุ่นปีนี้เราตั้งใจจะเปิด 25-26 สาขา ครึ่งปีแรกเปิดมาได้ 11 สาขาแล้ว ผมหวังว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคนไทยจะได้ลิ้มรสและชื่นชอบน้ำผลไม้ปั่นระดับซูเปอร์พรีเมี่ยมของเรานะครับ” คุณโนบุฮิโระ อาโอกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อาโอกิ กล่าวทิ้งท้าย

Aoki4
- อ่าน : ฟุกุชิมะบุกตลาดโลก คุมเข้มมาตรฐานเกษตร-ประมง(ตอน1)      

|รายงานพิเศษ : ฟุกุชิมะบุกตลาดโลก
|โดย :รัตนศิริ สุขัคคานนท์
|โต๊ะข่าวต่างประเทศฐานเศรษฐกิจ
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว