ออร์เดอร์พุ่ง! สหรัฐฯ สั่งเพิ่ม ไทยเร่งผลิต

13 ส.ค. 2561 | 06:02 น.
130861-1245

ส่งออกไทยมั่นใจ! สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ขึ้นภาษีตอบโต้ล็อต 2 ไทยยังได้มากกว่าเสีย ... สรท. ระบุ 6 กลุ่มสินค้ารับออร์เดอร์เพิ่ม ... พาณิชย์เตรียมถกเอกชนประเมินสถานการณ์ 27 ส.ค. ขณะจีนขน 300 บิ๊กธุรกิจแดนมังกรดูลู่ทางลงทุนอีอีซี เล็งใช้ไทยเป็นฐานผลิตลดเสี่ยง

จากที่สหรัฐอเมริกาและจีนได้ทำสงครามการค้า ล่าสุด ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันในล็อตที่ 2 ในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่าอีกฝ่ายละ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. นี้เป็นต้นไป โดยสินค้าที่จีนระบุจะเรียกเก็บจากสหรัฐฯ เพิ่มในล็อตนี้ ครอบคลุมสินค้าหมวดยานพาหนะ เชื้อเพลิง น้ำมันเครื่องวาสลีน แอสฟัลต์ สายเคเบิลใยแก้ว ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ส่วนสหรัฐฯ เล็งเป้าหมายไปที่กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวกับรถไฟและการเดินรถไฟของจีนนั้น

 

[caption id="attachment_305359" align="aligncenter" width="503"] ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)[/caption]

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สมาชิก สรท. ส่วนใหญ่ให้มุมมองว่า สงครามการค้าครั้งนี้ ภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบในมุมบวกมากกว่าลบ ล่าสุด จากการตรวจสอบสมาชิก ระบุ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากผู้นำเข้าของสหรัฐฯ เพื่อไปทดแทนสินค้าจีนใน 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม และอีก 1 สินค้าในกลุ่มอาหาร ที่คาดว่าจะส่งออกไปจีน เพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น คือ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ส่วนในด้านลบ คือ สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ กระทบการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยและจากทั่วโลก

"ในวันที่ 27 ส.ค. นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญภาคเอกชนจากสมาคมการค้าต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ หารือถึงภาพรวมการส่งออกของไทย ว่า ผลพวงจากสงครามการค้าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบแง่บวกหรือลบอย่างไร แนวโน้มเดือนที่เหลือของปีนี้จะเป็นอย่างไร เบื้องต้น ภาคเอกชนมองส่งออกไทยปีนี้จะยังขยายตัวได้มากกว่า 8% จากยังมีโมเมนตัมที่ดี หลัง 6 เดือนแรก ขยายตัวได้ที่ 11%"

 

[caption id="attachment_305360" align="aligncenter" width="393"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.[/caption]

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า ผลจากสงครามการค้าครั้งนี้ คาดจากนี้ไปจะมีผู้ประกอบการของจีนเข้ามาลงทุนในอาเซียน รวมทั้งไทย เพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ และตลาดอื่นเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนหนึ่งเพื่อเลี่ยงภาษีสินค้าที่ต้องจ่ายเพิ่ม หากยังผลิตและส่งออกจากจีนโดยตรงจะส่งผลดีกับไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่อนาคตต้องระวัง เพราะหากเป็นการย้ายมาเพื่อใช้แหล่งกำเนิดสินค้าไทยส่งออกและขายในราคาต่ำ จะทำให้สินค้าของผู้ประกอบการไทยติดร่างแหถูกสหรัฐฯ ตอบโต้ทางการค้าได้

อย่างไรก็ดี มีสินค้าไทยหลายรายการที่มีแนวโน้มโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนได้เพิ่ม ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบว่า กลุ่มใดจะได้รับอานิสงส์บ้าง และให้เร่งเจรจากับลูกค้าเอาไว้ก่อน เพื่อเตรียมการผลิตตอบสนองความต้องการในช่วงต่อไป รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทเวลานี้ยังไม่อ่อนค่ามาก ถือเป็นโอกาสในการนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ เพื่อมาช่วยเสริมการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

[caption id="attachment_305361" align="aligncenter" width="503"] จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน[/caption]

ด้าน นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน เผยว่า ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-จีน ระดับรัฐมนตรีไทย-จีน ที่กรุงเทพฯ โดยนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายจีน ในการนี้จะนำนักธุรกิจจีน (กระทรวงพาณิชย์ระบุมีมากกว่า 300 ราย) ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไฮเทคโนโลยีของจีน จะมาร่วมจัดสัมมนาและจะลงพื้นที่อีอีซี เพื่อดูลู่ทางการลงทุนด้วย มองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก สร้างงานให้กับคนไทยเพิ่ม และส่วนหนึ่งจะช่วยจีนลดผลกระทบสงครามการค้าได้ จากมาใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศอื่นแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรง ล่าสุด องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประเมินสถานการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้การค้าทั่วโลกชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยคาดว่า การค้าวัตถุดิบทางด้านการเกษตรและชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้


15-3391-1242

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,391 วันที่ 12-15 ส.ค. 2561 หน้า 1+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
4 สินค้าส้มหล่น! ออร์เดอร์มะกันพุ่ง
'คอมพ์-ยานยนต์-ข้าว' แรง! 6 กลุ่ม ออร์เดอร์ยาวครึ่งปีหลัง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว