ทุ่มเงินแสนซื้อคนดิจิตอล!

12 ส.ค. 2561 | 07:29 น.
120861-1419

คนพันธุ์ดิจิตอลยุค 4.0 ค่าตัวพุ่ง! เด็กจบใหม่เริ่มต้น 3-3.5 หมื่นบาท ... 'จ็อบไทย' เผยข้อมูลอินไซด์สมัครงาน องค์กรรับโปรแกรมเมอร์สูงสุด เงินเดือนประสบการณ์ 5 ปี ระดับแสนบาท หวั่นฟองสบู่แตก ภาคอุตสาหกรรมหนีจ้างแรงงานเวียดนาม อินเดีย

นายอภัยชนม์ พันธุ์โอภาส นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า สถานการณ์โปรแกรมเมอร์ไทยในยุค 4.0 นั้น ประสบปัญหาขาดแคลนคนตั้งแต่ยุคการเริ่มต้น ขณะที่ ค่าตัวสูงกว่าคุณภาพและเปลี่ยนงานบ่อย โดยคนที่ทำได้ระยะหนึ่งก็มีเปลี่ยนสาย เพราะทนความกดดันไม่ไหว โดยโปรแกรมเมอร์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 คน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภาคการศึกษาเปิดรับเด็กเข้าเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 20,000 คน แต่มีความสามารถพร้อมทำงานทันทีประมาณ 2,000 คน คิดเป็น 10% เท่านั้น ขณะที่ ข้อมูลบริษัทจัดหางานพบว่า ความต้องการแรงงานด้านโปรแกรมเมอร์อยู่ที่ประมาณ 7,000 ตำแหน่ง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการโปรแกรมเมอร์และนิยมการซื้อตัวกันสูง อาทิ บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี, การเงินธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์

"ค่าตัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เริ่มที่ประมาณ 17,000 บาท เดี๋ยวนี้เด็กจบใหม่ขอประมาณ 30,000-35,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า"


programmer-1653351_960_720

ชี้ตอบแทนสูงสุดเหยียบแสน
น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ็อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า จ็อบไทยฯ ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานสายไอทีที่อยู่ในเว็บไซต์จ็อบไทยดอทคอม พบว่า มีองค์กรลงประกาศรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับสายไอทีทั่วประเทศทั้งหมด เฉลี่ย 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 3 ประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด

ประกอบด้วย 1.งานโปรแกรมเมอร์ จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8% ของงานสายไอทีทั้งหมด สำหรับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์จะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 20,000-45,000 บาท และสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ 1-3 ปีขึ้นไป จะได้รับค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000-60,000 บาท และประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะได้รับค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท

2.งานดูแลระบบเครือข่าย จำนวน 464 อัตรา คิดเป็น 13.8% ของงานสายไอทีทั้งหมด สำหรับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์จะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 15,000-25,000 บาท และสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงาน 1-3 ปี ค่าตอบแทนเฉลี่ย 20,000-35,000 บาท และตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ค่าตอบแทน 40,000-60,000 บาท

3.งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4% ของงานสายไอทีทั้งหมด สำหรับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ค่าตอบแทน เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท และสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ 1-3 ปีขึ้นไป ค่าตอบแทนเฉลี่ย 18,000-30,000 บาท และประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ค่าตอบแทนเฉลี่ย 40,000-60,000 บาท


GP-3392_180812_0010

ขาดทั้งปริมาณคุณภาพ
ด้าน นายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า การขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีของประเทศ เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายพยายามเข้ามาแก้ปัญหาแต่ไม่สำเร็จ โดยตอนนี้นอกจากไทยจะขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณแล้วยังประสบปัญหาในเชิงคุณภาพด้วย ขณะที่ ค่าจ้างแรงงานด้านไอทีขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งธนาคารและอุตสาหกรรมการผลิต มีความต้องการบุคลากรด้านไอที เพื่อรองรับกับดิจิตอลดิสรัปชัน แต่ในเชิงปริมาณนั้น ก็มีแนวโน้มเด็กจบใหม่ด้านดิจิตอลลดลง โดยขณะนี้ เริ่มเห็นหลายมหาวิทยาลัยปิดคณะดิจิตอลไป เพราะไม่มีคนเรียน

สำหรับทางออกของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์นั้น ต้องหันไปนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ อาทิ อินเดีย ปากีสถาน ที่มีคุณภาพสูง ทักษะดีกว่า สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และค่าจ้างถูกกว่าไทย

 

[caption id="attachment_305286" align="aligncenter" width="503"] สุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอเบิล จำกัด ในเครือซีดีจี สุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ
บริษัท จีเอเบิล จำกัด ในเครือซีดีจี[/caption]

หนีจ้างเวียดนาม
ส่วน นายสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอเบิล จำกัด ในเครือซีดีจี ผู้ให้บริการไอทีโซลูชันรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาการขาดบุคลากรขอบริษัทอีกวิธี คือ การจ้างงานบุคลากรที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้งจากอังกฤษ อเมริกา เข้ามา แม้จะมีต้นทุนสูง แต่สามารถทำงานให้สำเร็จได้จริง นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณานำเข้าแรงงานจากเวียดนามเข้ามา เนื่องจากคุณภาพดี ค่าแรงต่ำกว่าไทย และมีความขยัน

ด้าน นายโกศล ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ก่อตั้งบริษัท เฮ็ดบอท (Hbot) จำกัด และ Finstreet กังวลว่า การที่เงินเดือนคนด้านไอทีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจเกิดภาวะฟองสบู่แตกเกิดขึ้นในไม่ช้า เพราะความรู้ความสามารถสู้คนอาชีพเดียวกันจากประเทศเวียดนาม อินเดีย และอีกหลายประเทศไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันไปจ้างคนจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานแทน นอกจากนี้ ยังกระทบกับการจ้างงานของบริษัทสตาร์ตอัพ เพราะไม่มีเงินทุนพอที่จะจ้างคนเหล่านี้ เพราะเงินเดือนสูง

แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า โตโยต้าถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่กำลังอยู่ในช่วงปรับรูปแบบการจ้างงาน ทั้งในเชิงโครงสร้างและการรับพนักงานใหม่ โดยบริษัทได้นำเทคโนโลยี ทั้งบิ๊กดาต้าและซอฟต์แวร์ใหม่มาใช้ในการทำงานแทนคน เช่น การใส่ข้อมูลการตอบ อี-เมล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่มีรูปแบบประจำ ดังนั้น ในภาพรวมของการจ้างงานต่อไปจำนวนพนักงานประจำต้องลดลง หรือ พนักงานระดับเสมียนมีโอกาสตกงานสูง ดังนั้น พนักงานยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะหลากหลาย หรือ Multi-Skill รวมถึงความรู้เรื่อง IT ที่มีความสำคัญมาก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,391 วันที่ 12-15 ส.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อวดโฉม‘CryptoATM’ตู้แลกเปลี่ยนเงินดิจิตอล
ทางออกนอกตำรา : พิษ ‘ดิจิตอล ดิสรัปชัน’ จากหนังสือพิมพ์สู่ธนาคาร…


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว