ฟุกุชิมะบุกตลาดโลก คุมเข้มมาตรฐานเกษตร-ประมง (ตอน1)

11 ส.ค. 2561 | 19:54 น.
 

 

5265955 11 มีนาคม 2554 (ค.ศ. 2011) เป็นวันที่เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งจังหวัด “ฟุกุชิมะ” ที่เกิดเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เทปโก้ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก เวลาผ่านมากว่า 7 ปี ในวันนี้แม้บางพื้นที่ของจังหวัดยังคงเป็นเมืองร้าง แต่เศรษฐกิจของฟุกุชิมะที่เคยได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยในครั้งนั้นได้เริ่มพลิกฟื้นเพื่อคืนสู่ภาวะปกติในเร็ววันด้วยความพยายามของภาครัฐและความร่วมมือร่วมใจของเอกชน “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสเยือนจังหวัดฟุกุชิมะ ระหว่างวันที่ 22-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามคำเชิญของ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เพื่อลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านประมงและอาหาร เนื่องเพราะไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากฟุกุชิมะและผู้บริโภคชาวไทยก็ให้ความสนใจกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น

ตรวจเข้มด้วยมาตรฐานสูงที่สุด

[caption id="attachment_305243" align="aligncenter" width="335"] เคนจิ คูซาโนะ เคนจิ คูซาโนะ[/caption]

นายเคนจิ คูซาโนะ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความปลอดภัยการเกษตร ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima Agricultural Technology Center) เปิดเผยว่า มาตรฐานที่ญี่ปุ่นใช้ตรวจสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในผลิตภัณฑ์ประมงและเกษตรจากจังหวัดฟุกุชิมะก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในตลาดนั้น เป็นมาตรฐานขั้นสูง และเหนือกว่ามาตรฐานทั่วไปของหลายๆประเทศ ยกตัวอย่างในสหภาพยุโรป (อียู) ค่ามาตรฐานที่ถือว่าปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไปคือไม่เกิน 1,250 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) ขณะที่มาตรฐานของสหรัฐอเมริกาตั้งไว้ที่ 1,000 Bq/kg แต่ญี่ปุ่นนั้น ค่ามาตรฐานคือ 100 Bq/kg

TechnoCenter3 ซึ่งหมายความว่าหากตรวจพบสารกัมมันตรังสีเพียงเกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ก็ไม่ยอมให้มีการจำหน่ายแล้ว และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ภาคเอกชนของจังหวัดฟุกุชิมะเอง เช่น สหกรณ์ประมงจังหวัดฟุคุชิมะได้ตั้งมาตรฐานของตัวเองโดยสมัครใจที่ 50 Bq/kg ซึ่งเข้มงวดกว่ามาตรฐานระดับประเทศ คือหากตรวจพบสารกัมมันตรังสีเกิน 50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ก็จะงดจำหน่ายกันเองและตรวจสอบเพิ่มเติมในทันทีแม้ค่ามาตรฐานความปลอดภัยระดับประเทศจะอนุญาตให้พบได้ถึง 100 Bq/kg ก็ตาม เป้าหมายก็เพื่อสร้างความมั่นใจในระดับสูงสุดให้แก่ผู้บริโภคไม่ว่าจะในญี่ปุ่นเองหรือในต่างประเทศ
TechnoCenter2 “นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว (และกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้า) เมื่อเดือนมีนาคม 2011 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ เราตรวจสอบตัวอย่างอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตรและประมงไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 205,764 ตัวอย่าง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอีกแล้ว หรือบางส่วนที่ตรวจพบก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานและถือว่าปลอดภัยสำหรับการบริโภค นอกจากห้องทดลองสำหรับการตรวจสอบที่ศูนย์เทคโนโลยีฯแห่งนี้แล้ว เรายังมีห้องทดลองหรือสถานีย่อยอีก 500 แห่งให้บริการตรวจฟรีตามหมู่บ้านและอำเภอต่างๆในฟุกุชิมะ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถนำผัก ปลา เนื้อ ผลไม้มาให้เราตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ” ผ.อ.ศูนย์เทคโนโลยีฯ เผยว่า การตรวจสอบจะสามารถทราบผลภายใน 10 นาทีสำหรับผักผลไม้ และ 33 นาทีสำหรับปลาและเนื้อ จากนั้นจะมีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบบนหน้าโฮมเพจของทางศูนย์ (www.new-fukushima.jp) แต่ละวันจะรับตรวจสอบได้ประมาณ 150 ตัวอย่าง
TechnoCenter4 TechnoCenter5  พร้อมบุกตลาดต่างแดน

การตั้งมาตรฐานสูงเพื่อรับประกันคุณภาพและความปลอดภัยเป็นเครื่องการันตีที่ดี ปัจจุบันปริมาณของผลิตภัณฑ์ประมงที่จับได้ในจังหวัดฟุกุชิมะยังมีน้อยกว่าปริมาณที่เคยจับได้ก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติในปี 2554 (คิดเป็นสัดส่วนเพียง 13%) ยังมีปลา 7 ชนิดที่ระงับการจับมาจำหน่ายเพราะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามหินและพื้นทรายใกล้เขตที่ตั้งของโรงไฟฟ้าฯ ทางหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันวิจัยทรัพยากรประมง ได้เข้ามามีบทบาทช่วยฟื้นความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประมงในพื้นที่ด้วยการเพาะเลี้ยงปลาและหอย (อาทิ ปลาฮิราเมะ หอยเป๋าฮื้อ และปลาอายูวะ) ให้ได้ปริมาณและคุณภาพที่ดี ก่อนนำปล่อยสู่ทะเลเพื่อให้แพร่พันธุ์ต่อไป
FukushimaRice3 อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้เริ่มส่งออกปลาบางส่วนแล้ว เช่นที่เคยเป็นข่าวการส่งออกมายังประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีนี้ โดยเป็นปลาฮิราเมะ(ปลาตัวแบน) หลังจากนี้ก็จะเจาะตลาดส่งออกในประเทศอื่นๆด้วย โดยเริ่มจากภูมิภาคอาเซียนก่อน “เรามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงและเกษตรไปยังประเทศอาซียนอยู่แล้ว เช่น ปลาและลูกพีชมายังไทย ข้าวไปมาเลเซีย และสาลี่ไปเวียดนาม”

นายทาคาฮิโระ อิชิมูระ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้า (Fukushima Trade Promotion Division) สำนักงานราชการจังหวัดฟุกุชิมะ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” และอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะประเทศในอาเซียนเท่านั้น หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงด้านอาหาร ก็ยังมีการนำเข้าสินค้าจากฟุกุชิมะ เช่น สหรัฐฯนำเข้าสาเก และอังกฤษนำเข้าข้าว
FukushimaRice2 เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงรสชาติและคุณภาพในระดับ “สุดยอด” ของผลิตผลการเกษตรจากจังหวัดฟุกุชิมะที่พร้อมจะบุกตลาดต่างประเทศ ในช่วงปลายปีนี้ (ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ยังไม่ได้กำหนดวันแน่นอน) ทางจังหวัดฟุกุชิมะจะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการส่งออกปลาฮิราเมะขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยจะจัดร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย เชื่อว่านี่คือโอกาสดีที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคและสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เขาเองพร้อมจะตอบทุกคำถาม

[caption id="attachment_305246" align="aligncenter" width="503"] ทาคาฮิโระ อิชิมูระ ทาคาฮิโระ อิชิมูระ[/caption]

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2561 จะมีการจัดกิจกรรมแข่งขันฟุตบอล “ฟุกุชิมะ พีช แมตช์” หรือศึกลูกท้อหวดแข้งกระชับมิตร ระหว่างทีมฟุกุชิมะ ยูไนเต็ด กับทีมสโมสรฟุตบอลแอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล (เดิมคือสโมสรฟุตบอลทหารอากาศ) ที่สนามกีฬากองทัพอากาศ(ธูปะเตมีย์) ในงานมีการแจกฟรีลูกพีชหอมหวานจากจังหวัดฟุกุชิมะแก่ผู้ชมถึง 1,000 ลูก
Momo1 ลูกพีช (peach) หรือ “โมโม่” ในภาษาญี่ปุ่น เมื่อแปลเป็นไทยก็คือ “ลูกท้อ” แต่เกษตรกรผู้ปลูกท้อในฟุกุชิมะนั้นไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตาไม่ว่าจะสาหัสแค่ไหน นับตั้งแต่วันแรกที่ภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ และการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ถาโถมเข้าใส่ในปี 2011 พวกเขาทำทุกวิถีทางที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์และสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ฉบับหน้าพบกับบทบาทของภาคเอกชนฟุกุชิมะที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค และวันนี้พวกเขาก็พร้อมที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ผ่านการตรวจสอบแล้วอย่างพิถีพิถันออกสู่ตลาดโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
Momo2

 

|รายงานพิเศษ
|โดย :รัตนศิริ สุขัคคานนท์
|โต๊ะข่าวต่างประเทศฐานเศรษฐกิจ
e-book-1-503x62