ชาวไร่ตะโกนถามราคาอ้อยร่วง! ใครช่วยได้

11 ส.ค. 2561 | 13:09 น.
รายงานพิเศษ

ชาวไร่ตะโกนถามราคาอ้อยร่วง! ใครช่วยได้

โดยTATA007

หลังจากที่บรรดาแกนนำชาวไร่อ้อยนัดรวมพลโดยอาศัยเวทีประชุมสัมมนา “ฝ่าวิกฤตราคาอ้อยตกต่ำ เพื่อความอยู่รอดของชาวไร่อ้อย ” ที่พัทยา จังหวัดชลบุรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อระดมแนวคิด ถึงทางออกของปัญหาราคาอ้อยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับจากนี้ไป จนถึงฤดูการผลิตปี2561/2562 เกรงว่าชาวไร่อ้อยหลายครัวเรือนทั่วประเทศที่ฝากชีวิตไว้กับไร่อ้อย เพราะที่คิดว่าเป็นพืชเกษตรที่มีราคาดี แต่วันนี้ราคาเริ่มส่งสัญญาณขาลง สะท้อนไปตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ดิ่งลง... ดิ่งลง... เพราะทั่วโลกมีผลผลิตดี พอราคาดี แห่ปลูกอ้อยผลิตน้ำตาล โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญในตลาดโลกทั้งไทย จีน บราซิล อินเดีย และประเทศในกลุ่มยุโรป ฯลฯ

การออกมารวมตัวของแกนนำครั้งนี้ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณครั้งที่ 1 เรียกร้องให้ภาครัฐและโรงงานน้ำตาลหันมามองปัญหาราคาอ้อยที่ตกต่ำร่วมกัน หลังจากที่แนวโน้มราคาอ้อยสุดท้ายที่กำลังจะประกาศออกมา ยืนอยู่ในระดับ 772 บาทต่อตันอ้อย เป็นราคาอ้อยที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และเชื่อว่าราคาอ้อยจะต่ำลงต่อเนื่องในฤดูผลิตต่อไป
AIO2 ดูจากข้อเสนอที่ชาวไร่อ้อย ส่งเสียงตรงถึงโรงงานน้ำตาลและภาครัฐถึงแนวทางเพิ่มราคาอ้อยยาวเหยียดเกือบ20ข้อ ทั้งมาตรการระยะสั้นระยะยาว ถ้าโฟกัส เฉพาะแค่ 3 ข้อ ที่เสนอถึงโรงงาน คือ 1.ให้มีการเจรจากับโรงงานน้ำตาลเพื่อนำเงินจากระบบที่มีส่วนต่างของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประมาณ ปีละ15,000ล้านบาทมาเพิ่มเป็นราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 100% ในส่วนนี้น่าจะเป็นไปได้ แต่ราคาน้ำตาลที่ขายไปอาจไม่ได้ตามที่ชาวไร่อ้อยคิด และน่าจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากซีกโรงานน้ำตาล

2.กำหนดปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่เหมาะสม เพื่อเสถียรภาพราคาอ้อยปริมาณส่วนเกินจากที่กำหนดให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ตรงนี้เชื่อว่าโรงงานจะไม่รับประกันราคาส่วนเกิน จะเป็นไปได้ยาก เพราะโรงงานจะไม่มารับความเสี่ยงด้วยตัวโรงงานเอง เนื่องจากราคาในตลาดโลกผันผวน ซึ่งในส่วนนี้น่าจะขึ้นอยู่ที่การปรับตัวของชาวไร่อ้อย เช่น ถ้าราคาไม่ดีก็ปลูกอ้อยน้อยลง

3.กำหนดรายได้ส่วนเพิ่มให้กับระบบจากการผลิตน้ำตาลชนิดพิเศษและแบ่งปันให้เหมาะสม ข้อนี้ยิ่งเป็นไปได้ยาก เชื่อว่าโรงงานน้ำตาลไม่ยอมเพราะเกินเลยจากข้อตกลง จากที่ตกลงกันว่าราคาที่คิดปัจจุบันคือเฉพาะน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบ ส่วนน้ำตาลพิเศษนั้นโรงงานเป็นผู้ลงทุนเพิ่มเติม

AIO1

-ไม่เกิน20ส.ค.นี้ยื่นหนังสือถึง"อุตตม"

ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยยังรวมตัวกันยื่นข้อเสนอ ถึงรัฐบาล ให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย ยา รวมทั้งการขนส่ง) เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ขัดกับWTO , ขอให้รัฐแก้ปัญหาเพื่อให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตโดยให้มีการแก้กฏหมายโดยใช้ม.44 ให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการนำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากน้ำตาล เพื่อให้ระบบมีรายได้เพิ่มขึ้นและแบ่งปันอย่างเหมาะสม , การปรับรูปแบบวิธีการขายน้ำตาลไปต่างประเทศของตลาดล่วงหน้าให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบ รวมถึงปลดเงื่อนไขข้อจำกัดระหว่างชาวไร่อ้อยต่อโรงงานในการทำราคาตลาดล่วงหน้า (36เดือน) และเพิ่มชนิดน้ำตาลในการทำราคา (น้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว) เป็นต้น

ทั้งนี้ชาวไร่อ้อยจะนำประเด็นข้อเรียกร้องเสนอถึงรัฐบาล คาดว่าไม่เกินวันที่20 สิงหาคมนี้ โดยยื่นหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้รับไปพิจารณา การส่งสัญญาณครั้งนี้เชื่อว่ายังต้องถกกันอีกหลายข้อ หลายเรื่อง เพราะซีกชาวไร่อ้อยก็มีเหตุผล เพราะมีชาวไร่ที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยทั่วประเทศมากกว่า4 แสนราย ยังไม่รวมเกษตรกรรายย่อยอีกหลายหมื่นรายที่ยึดอาชีพปลูกอ้อยเลี้ยงครอบครัว ที่เริ่มออกมาตะโกนถาม ราคาอ้อยร่วงใครจะช่วยได้!!!
aio3 ขณะที่โรงงานน้ำตาลก็ถูกกดดัน ทั้งเรื่องวัตถุดิบรองรับที่ต้องพึ่งพาชาวไร่อ้อย และปริมาณอ้อยมากน้อยในแต่ละปี ก็ยังต้องลุ้นดิน ฟ้า อากาศ ปัญหาภัยธรรมชาติ อีกทั้ง ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำลง ส่วนภาครัฐเอง ก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการพิจารณากันหลายตลบเพื่อให้ลงตัวกับทุกฝ่าย และหลายข้อต้องระวังไม่ให้ผิดกฏกติกาการค้าโลก หรือWTO

สุดท้ายได้แต่หวังว่าอย่าให้ปัญหาเดิมๆเหล่านี้ กลับไปสู่โหมดเดินขบวนชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลเหมือนในอดีต ขอเพียงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและภาครัฐบาล หันหน้ามาหารือกัน เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่สุดแล้วทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้ดังสุภาษิตที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”

aio5

e-book-1-503x62