ดันสุดลิ่มกฎหมายข้าว เพิ่มรายได้ชาวนา 14 ล้านคน

15 ส.ค. 2561 | 08:39 น.
ปัจจุบันการทำนาของเกษตรกรกำลังเผชิญกับปัญหาทั้งระบบ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น สวนทางกับประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลงจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่วนใหญ่มีหนี้สินสูง ขาดแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพการทำนาหรือเกษตร กรรมต่อจากบรรพบุรุษ ดังนั้นการสร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติข้าวขึ้นมาช่วยเหลือ

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว  พ.ศ. ...ดังนี้

เพิ่มรายได้ 14 ล้านคน

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า  ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... มีประโยชน์หลัก ได้แก่ 1.สร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้อาชีพชาวนา เพราะจะทำให้ชาวนาเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และมีความภาคภูมิใจในอาชีพชาวนา 2.เพิ่มรายได้ให้ชาวนา 14 ล้านคน เพราะทุกวันนี้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น (โดยเฉพาะชาวนามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการจ้างแรงงานคน เนื่องจากทายาทชาวนาทิ้งถิ่นฐาน) แต่ชาวนายังคงขายข้าวได้ในราคาตํ่าคงเดิม ดังนั้น ร่างกฎหมายข้าวฉบับนี้ดูแลเรื่องต้นทุนที่แท้จริงของชาวนา และช่วยกำหนดราคาแนะนำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ยุติธรรม

[caption id="attachment_305035" align="aligncenter" width="296"] กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ[/caption]

“ผมเองเป็นเกษตรกรมา จุดเริ่มต้นก็มีประสบการณ์ว่าพี่น้องชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบมานานมากแล้วโดยพิจารณาจากพี่น้องชาวนาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เพราะฉะนั้นสาเหตุหนึ่งมาจากที่ไม่มีกฎหมายในการบริหารจัดการข้าวโดยตรง ประเทศไทยมี  พ.ร.บ.ข้าวฉบับเดียวก็คือ พ.ร.บ.ค้าข้าว พ.ศ. 2489  ซึ่งนั่นก็คือ เป็นปลายทางแล้ว เป็นการค้าข้าว หรือขายข้าวของพ่อค้าเสียส่วนใหญ่ แต่ยังไม่มีกฎหมายที่จะมาส่งเสริมและพัฒนาต้นทางที่จะให้พี่น้องชาวนาได้ลดต้นทุน ได้พัฒนาหรือว่าได้ให้ความรู้ตรงนี้ในการที่จะลดต้นทุน เพื่อเพิ่มกำไรสิ่งที่สำคัญเป็นการลดช่องว่างที่เราพูดจะจริงหรือไม่จริง ซึ่งยืนยันว่า ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าบางรายมากเกินไป เราจะใช้กฎหมายนี้มาเป็นกรอบเพื่อที่จะลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมลํ้าระหว่างพี่น้องเกษตรกรชาวนากับพ่อค้าหรือโรงสีต่างๆ ให้อยู่ด้วยกันได้”

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... มี 39 มาตรา  เจตนาต้องการให้กฎหมายฉบับนี้มีการบริหารจัดการแบบครบวงจรคือว่าต้องการพัฒนาตั้งแต่ให้ความรู้ ส่งเสริมอาชีพ และไปดูถึงพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ทั้งนี้หากแบ่งการทำนา จะแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 4 เดือน รวม 8 เดือน มีเวลาว่างเว้นการทำนา 4 เดือน  ร่างฯฉบับนี้จะมีการส่งเสริม ในช่วงช่องว่างนี้ว่า ชาวนาอยากจะทำอะไร ตามความต้องการไม่บังคับ แต่จะมีการส่งเสริม เช่น หาแหล่งทุน วัสดุต่างๆ  หรือว่าภาคประมง จะเลี้ยงปู เลี้ยงปลา จะมีหน่วยงานเข้าไปดูแลเพื่อเพิ่มรายได้ ดังนั้นจุดประสงค์ของร่างฯ ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะไปทับซ้อนกับกฎหมายข้าวอื่นๆ นั้น ยํ้าอีกครั้งว่า เรามี พ.ร.บ.ค้าข้าว อย่างเดียว ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว (วันที่ 13 ส.ค.61) สนช. จะส่งผ่านรัฐบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบ และจะส่งกลับมาที่ สนช. เพื่อจะพิจารณาออกไปเป็นกฎหมาย ซึ่งจะไปต่อยอดกับ พ.ร.บ.ค้าข้าว ได้เป็นอย่างดี

กฎหมายตัวแทนเป็นธรรม

“หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งในร่างฯ ฉบับนี้ คือคณะกรรมการข้าว จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ถ้าโดยปกติแล้วจะมอบให้รัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการข้าวชุดนี้ ส่วนรายละเอียดมีกฎหมายลูกมาประกอบ 10 ฉบับ ด้วยกันแล้วจะให้คณะกรรมการชุดนี้ไปออกนโยบายเพื่อความเหมาะสมในแต่ละช่วงฤดู เพราะฉะนั้นตรงนี้คิดแล้วว่าหากมีกฎหมายรองรับจะสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมลํ้าได้” ข้าว6

นายกิตติศักดิ์ กล่าวยํ้าว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่มีโทษสำหรับเกษตรกรชาวนา แต่จะมีโทษกับผู้จำหน่ายหรือผู้ประกอบการค้าปุ๋ย-สารเคมี ที่เอารัดเอาเปรียบ หรือจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพให้กับชาวนา ตรงนี้จะมีบทลงโทษ จำคุก  5 ปี แต่หากชาวนาไม่ประสงค์จะมาขึ้นทะเบียนหรือปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ก็จะขาดสิทธิต่างๆ เช่น การได้รับการเยียวยาจากภาครัฐในกรณีต่างๆ เพียงแค่นั้น

“อยากจะฝากถึงพ่อค้าและโรงสีที่ดีที่มีอยู่กว่า 99% หากไม่ได้ทำผิดก็ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนเลย สนช.ออกกฎหมายมากว่า 300 ฉบับไม่ได้มองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นคู่แค้นใดๆ ทั้งสิ้น เขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้กับคนทั้งประเทศทุกฝ่าย กฎหมายก็คือตัวแทนแห่งความเป็นธรรม”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,392 วันที่ 16-18 สิงหาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว