ปตท. ตีตั๋วจอง "ศูนย์บางซื่อ" ส่งบริษัทลูกเอ็มโอยู ร.ฟ.ท.

10 ส.ค. 2561 | 09:16 น.
100861-1607

ปตท. ส่ง 'พีทีทีโออาร์' บริษัทลูกด้านธุรกิจค้าปลีก นำร่องลงนามความร่วมมือ ร.ฟ.ท. ศึกษารูปแบบการตั้งสมาร์ทซิตี สถานีกลางบางซื่อ ก่อนลุยประมูลโครงการมูลค่ากว่าแสนล้านบาท

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขอลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ศูนย์พหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อในรูปแบบสมาร์ทซิตี แต่ยังไม่มีการลงนามใด ๆ เนื่องจากจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. พิจารณาและเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไป

"ยังต้องนำเสนอให้บอร์ด ร.ฟ.ท. เห็นชอบก่อนจะลงนามเอ็มโอยู ขณะนี้เป็นการประสานในเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. แต่อย่างใด คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะนำเสนอพิจารณา หลังจากนั้นจะนัดวันลงนามกับ ปตท. ต่อไป"


MP35-3210-A

นายฐากูร อินทร์ชม ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้จะเน้นเฉพาะการศึกษาเรื่องสมาร์ทซิตีเท่านั้น ไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อีกทั้ง ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างการว่าจ้างศึกษาการพัฒนาเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน ซึ่งยังพอมีเวลาปฏิบัติการให้พร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ ที่กำหนดไว้ประมาณปี 2563

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้มอบหมายให้บริษัทลูก คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ พีทีทีโออาร์ ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีก เข้าไปลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ศูนย์พหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อในรูปแบบสมาร์ทซิตี เพื่อนำร่อง ก่อนที่จะให้พีทีทีโออาร์เข้าไปลงทุนในโครงการดังกล่าวในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP)

"สาเหตุที่ ปตท. ให้พีทีทีโออาร์ เนื่องจากการเข้าไปร่วมลงทุนโครงการในลักษณะพีพีพี ผู้ที่จะเข้าไปร่วมลงทุนจะต้องไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ปตท. จึงให้พีทีทีโออาร์ ซึ่ง ปตท. และหน่วยงานของภาครัฐถือหุ้นต่ำกว่า 50% เข้าไปร่วมมือกับ ร.ฟ.ท. เพราะมองว่า โครงการนี้มีศักยภาพสูงในการพัฒนา"

สำหรับการพัฒนาย่านสถานีกลางบางซื่อ ตามผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า เสนอให้มีการพัฒนาสถานีบางซื่อ 218 ไร่ เป็นโมเดลต้นแบบพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (ทีโอดี) และเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในไทย และภูมิภาคอาเซียน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่


TP12-3366-เกาะติด

โซน A (Smart Business Complex) ขนาดพื้นที่ 35 ไร่ เงินลงทุน 11,573 ล้านบาท ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ โดยจะพัฒนามาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระดับสากลและศูนย์กลางธุรกิจแบบครบวงจร ประกอบไปด้วย อาคารสำนักงาน บริการโลจิสติกส์ พื้นที่ค้าปลีก ศูนย์อาหาร และโรงแรม เพื่อรองรับความต้องการของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน

โซน B (ASEAN Commercial and Business Hub) ขนาดพื้นที่ 78 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีกลางบางซื่อ ในระยะห่างจากตลาดนัดจตุจักรเพียง 700 เมตร โดยโซนนี้จะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้าระดับอาเซียน และเป็นศูนย์รวมแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ ซึ่งต่อยอดมาจากตลาดนัดจตุจักร นอกจากพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว โซนนี้ยังประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ตลอดจนอาคารจัดประชุมและแสดงสินค้า เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

โซน C (Smart Healthy and Vibrant Town) ขนาดพื้นที่ 105 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (สถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน) โดยโซนนี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำงาน พื้นที่ค้าปลีก และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ภายใต้แนวคิดที่สนับสนุนสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชากรเมือง

โซน D (World Renowned Garden Interchange Plaza) ขนาดพื้นที่ 87.5 ไร่ ตั้งอยู่ติดตลาดนัดจตุจักร โดยโซนนี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางขนาดใหญ่สำหรับเชื่อมต่อการเดินทาง พร้อมเปิดเป็นพื้นที่ค้าปลีกอีกแห่งหนึ่งด้วย

โดยไจก้าแนะนำให้เริ่มโซน A พื้นที่ 35 ไร่ เป็นลำดับแรก เพราะอยู่ห่างสถานี 50-100 เมตร พัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีอาคารสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม 3-4 ดาว ศูนย์การค้ามีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เป็นระยะเวลา 30 ปี ล่าสุด คณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เป็นระยะ 30 ปี ล่าสุด คณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) มีมติรับทราบแล้ว คาดว่าจะเริ่มประมูลต้นปี 2562


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 ส.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บูมซีบีดี‘มักกะสัน-สุขุมวิท’ปรับมาตรการจูงใจด้านผังเมืองปลุกศูนย์เศรษฐกิจ
มิกซ์ยูสเปลี่ยนเมือง กลุ่มเซ็นทรัล-เบียร์ช้างบูมกรุงเทพฯชั้นใน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว