10 ปีอีอีซีเทียบชั้นกรุงเทพ ชาวชลบุรีจี้รัฐดูแลผลกระทบรอบด้าน

11 ส.ค. 2561 | 10:31 น.
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ได้จัดสัมมนาสัญจรขึ้นที่จังหวัดชลบุรี

ซึ่งถือเป็น 1 ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในหัวข้อ “EEC คนไทย...ได้อะไร?” เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้ ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

10ปีเทียบชั้นกทม.

โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ฉายภาพให้เห็นว่า การพัฒนาอีอีซี ที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ ประโยชน์ที่ได้จะตกแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดโดยตรง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมากว่า 10 ปี การลงทุนของไทยชะลอตัว ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ และภาคการผลิตมีการใช้เทคโนโลยี หรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ๆ ที่น้อยมาก

ดังนั้น การพัฒนาอีอีซี จึงเป็นโอกาสในการสร้างฐานความเจริญใหม่ให้กับประเทศ บนฐานการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิตอล โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาสอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาอีอีซี จะเป็นประตูสู่เอเชียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนทั้งประเทศได้ประโยชน์จากการพัฒนา และจะเป็นต้นแบบการ พัฒาไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าในระยะเวลา 10 ปี การพัฒนาอีอีซี จะมีความเจริญใกล้เคียงกับกรุงเทพ มหานคร ซึ่งจะต้องเตรียมแผนรองรับผลกระทบ และการดูแลประชาชนในพื้นที่ทุกๆด้าน รวมถึงโครงการพัฒนาจากพื้นที่ที่สอดรับกับการพัฒนาอีอีซีในภาพรวม TP11-3391-A

โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิจตอล ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการดำเนินงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะทำให้การพัฒนาด้านดิจิตอลดีที่สุดในประเทศไทย

ส่วนนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะเจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า วันนี้จังหวัดชลบุรีพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนอีอีซีในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบุคลากร การท่องเที่ยว การศึกษา และเปิดกว้างให้ประชาชนในพื้นที่ตั้งกลุ่มเพื่อเสนอปัญหาต่างๆ โดยมีจังหวัดเป็นแกนกลางประสานกับรัฐบาล

รัฐต้องดูแลคนในพื้นที่

ด้านตัวแทนภาคประชาชน อย่างนายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สะท้อนว่า ภาครัฐจะต้องชี้ให้เห็นว่าประชาชนจะได้อะไรจากการพัฒนาอีอีซีให้มากที่สุด รวมถึงผลกระทบและมีมาตรการอะไรมารองรับจากการมีแรงงานทั้งในและต่างประเทศเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะการบริการด้านสาธารณสุข ที่จะต้องมีเพียงพอ การรักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมหรือเวชศาสตร์อุตสาหกรรม การรักษาจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับรากหญ้า อีกทั้ง ต้องดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการถมทะเลของท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่าจะมีผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ การดูแลปัญหานํ้าท่วมหรือนํ้าขัง จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงการแก้ปัญหาขยะทุกประเภทที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

สอดรับกับนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าชลบุรีจะมีประชากรเพิ่มเป็น 2 ล้านคน และมีประชาชนแฝงเพิ่มเป็น 3 ล้านคน จำเป็นต้องเตรียมแผนรองรับ การดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งการจัดเตรียมโรงพยาบาล การศึกษา การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับท้องถิ่นเพียงพอที่จะมาพัฒนาหรือดูแลประชาชนที่เพิ่มขึ้นมากได้

090861-1927

เพิ่มสิทธิประโยชน์ลงทุน

นายสาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า พื้นที่อีอีซี ถือเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ซึ่งในอนาคตการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นไปถึง 3 ล้านบาท จากปัจจุบัน 2 ล้านคัน โดยมีผู้ผลิตจำนวน 13 ราย และมีซัพพลายเออร์อีกกว่า 1,700 ราย ใช้แรงงานเกือบ 1 ล้านคน แต่น่าเสียดายที่รายได้ส่วนใหญ่จะออกนอกประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์เป็นต่างชาติ และจะสั่งซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ของชาติเดียวกัน ขณะที่จะมีคนไทยอยู่ในสัดส่วนเพียง 20% ที่ได้อานิสงส์

ดังนั้น ในการดึงนักลงทุนเข้ามา ควรจะมีมาตรการสนับสนุนนักลงทุนไทย โดยการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนไทย เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติดึงพันธมิตรที่เป็นคนไทยเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะมีประมาณ 2 แสนคน แต่ถ่ารวมประชากรแฝงด้วยจะอยู่ราว 8 แสนคน การที่อีอีซีเปิดให้มีการตั้งมหาวิทยาลัย โดยสามารถดึงอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนได้ จะเป็นการช่วยยกระดับฝีมือแรงงานในพื้นที่ได้ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยอมตะเอง กำลังจะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน จัดการเรียนการสอนพัฒนาสายการผลิตที่เป็นระบบยานยนต์แห่งอนาคต ที่เน้นการฝึกอบรมหรือฝึกงานจริงในสถานประกอบการถือเป็น 1 ในโครงการพัฒนาแรงงานของอีอีซี

นอกจากนี้ อยากจะเสนอให้รัฐบาลตัดภาษีเงินได้ส่วนหนึ่ง 10-20% ของผู้ประกอบการที่อยู่ในอีอีซีมาให้ท้องถิ่น แทนที่จะนำเอางบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล มาดูแลปัญหาในพื้นที่

รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,391 วันที่ 12-15 ส.ค. 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว