ผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติสูงสุดในรอบ 5 ปี ร้อยละ 98.5 เดินหน้าลงทุนในไทย  

10 ส.ค. 2561 | 04:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในไทยประจำปี 2561 สูงสุดในรอบ 5 ปี          นักลงทุนต่างชาติร้อยละ 98.5 ยันเดินหน้าลงทุนในไทย ทั้งขยายการลงทุนเพิ่ม  และรักษาระดับการลงทุนไม่เปลี่ยนแปลง ชูความพร้อมด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน  และสิทธิประโยชน์ทางภาษี  เป็นปัจจัยหลักที่  นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในไทย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ประจำปี 2561 จากจำนวน 600 บริษัทที่ตอบแบบสอบถาม พบว่า นักลงทุนต่างชาติร้อยละ 98.5 มีแผนการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง สูงสุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2557 โดยนักลงทุนต่างชาติร้อยละ 33 มีแผนที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย และนักลงทุนอีกร้อยละ 65.5 ยังรักษาระดับการลงทุนในไทยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนนักลงทุนที่มีแผนลดระดับการลงทุนตามสภาวะธุรกิจ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น

ดวงใจ11

สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนวางแผนจะขยายการลงทุน รวมทั้งยังคงเดินหน้ารักษาการลงทุนในไทยนั้น พบว่า สามลำดับแรก คือ การมีวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพียงพอ (ร้อยละ 54.7) ตามด้วยการมี ผู้รับช่วงการผลิต (ซัพพลายเออร์) ที่เพียงพอ (ร้อยละ 50.8)  และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย (ร้อยละ 44.5)

“ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน ทั้งในส่วนของการมีชิ้นส่วน วัตถุดิบ และซัพพลายเออร์ที่เพียงพอ ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐได้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ” นางสาวดวงใจ กล่าว

นอกจากนี้ การสำรวจยังได้สอบถามถึงความพึงพอใจต่อบริการของบีโอไอ พบว่า นักลงทุนมีความพึงพอใจต่อบริการของบีโอไอเพิ่มสูงขึ้นในแทบทุกด้าน ได้แก่ ภาพรวมการให้บริการ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอ บริการที่ได้รับจากศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน บริการข้อมูลทางเว็บไซต์ บริการจากศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ  OSOS และความง่ายในการเข้าถึงบริการ ตลอดจนความรวดเร็ว เป็นต้น  ขณะที่สิ่งที่นักลงทุนต้องการให้มีการปรับปรุงคือ ระบบราชการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ อาทิ การยกเลิกใบอนุญาตหรือกระบวนการที่ไม่จำเป็น การปรับปรุงระบบภาษีให้มีขั้นตอนที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น และการปรับปรุงขั้นตอนในการขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน  ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่อง