คนชลบุรีได้อะไรจาก "EEC" ...?

09 ส.ค. 2561 | 13:23 น.
การสัมมนา "EEC คนไทย...ได้อะไร?" เเผนปฏิรูปประเทศในการสัมมนา 4 จังหวัดสัญจร (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา กทม.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ณ เดอะไทด์ รีสอร์ท จ.ชลบุรี นั้น ชาวชลบุรีต้องการสิ่งใดเเละจะได้อะไรกับเมกะโปรเจ็กต์ชิ้นนี้ ที่รัฐบาลขับเคลื่อนให้เข้าสู่ยุค "ไทยเเลนด์ 4.0" บ้าง ... "ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลไฮไลต์สำคัญจากการสัมมนาครั้งนี้ มานำเสนอ ...

 

[caption id="attachment_304679" align="aligncenter" width="503"] สนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี[/caption]

นายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป้าหมายหลักของอีอีซีจะต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นกับทั้ง 3 จังหวัด จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการพูดคุยประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่อีอีซี มีข้อเสนอหลัก ๆ ได้แก่ 1.จะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนว่า "อีอีซี คืออะไร?" "ประชาชนจะได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง?" ซึ่งเมื่อเกิดอีอีซีแล้ว จะต้องมีผลลงไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งภาคสนับสนุนต่าง ๆ จะต้องได้รับผลจากการเติบโตของอีอีซี

2.ประชาชนมีความเป็นห่วงว่า เมื่ออีอีซีเติบโตจะเกิดผลกระทบด้านลบตามมา ซึ่งภาครัฐจะต้องอธิบายให้กับชาวบ้านได้รับรู้ผลกระทบด้านลบต่าง ๆ ภาครัฐมีมาตรการอะไรเข้ามาแก้ไขและภาคประชาชนจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร 3.การพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นมารองรับปัญหาใหม่ ๆ จะต้องยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาล โรงพยาบาล และหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อรองรับการรักษาพยาบาล โรคที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมหรือเวชศาสตร์อุตสาหกรรม และการรักษาพยาบาลจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่รากหญ้า

4.การบริหารจัดการเรื่องน้ำ โดยเฉพาะมาตรการป้องกันน้ำท่วม เพราะความเจริญที่เข้ามา ทำให้เกิดการถมที่ การสร้างเมือง ทำให้เกิดการกีดขวางระบบระบายน้ำ จึงต้องวางมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ครบถ้วน

 

[caption id="attachment_304680" align="aligncenter" width="503"] อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม[/caption]

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านอุตสาหกรรม การศึกษา นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งประโยชน์จะตกกับประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดโดยตรง และยังเป็นก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย 20 ปี จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างอนาคตให้กับประเทศ

เพราะตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา การลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศหยุดชะงัก หากขาดการลงทุนใหม่ ๆ เทคโนโลยีของไทยก็จะยิ่งล้าหลังจนสู้กับประเทศอื่นไม่ได้ นอกจากนี้ โครงการอีอีซีจะเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้ได้เร่ิมขึ้นแล้วใน จ.นครสวรรค์ และขอนแก่น ที่จะมีการพัฒนาไบโออีโคโนมีขึ้นมา โดยมีอีอีซีเป็นต้นแบบนำร่อง อีกทั้งในอนาคตอันใกล้การพัฒนาอีอีซีจะไม่ได้มีเพียง จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แต่จะยังจะขยายออกไปใน จ.สระแก้ว ปราจีนบุรี และตราดอีกด้วย

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ได้เชิญประชาชนในจังหวัดทุกภาคส่วนมาระดมความคิดในการพัฒนา จ.ชลบุรี รองรับการเติบโตของอีอีซี โดยในขณะนี้ ระบบโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน ทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า สามารถรองรับการเติบโตของ จ.ชลบุรี ได้ประมาณ 2-3 ปี หลังจากนี้จะร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับอีอีซีอย่างเต็มรูปแบบ

นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบัน ชลบุรีมีประชากรแฝง 2 ล้านคน ในขณะที่ ประชากรชลบุรีมี 1 ล้านคน และคาดว่า ใน 10 ปี ข้างหน้า ประชากรแฝงจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคน ประชากรชลบุรี 2 ล้านคน ทำให้มีประชากรใน จ.ชลบุรี 5 ล้านคน ซึ่งควรเตรียมแผนรองรับประชากรแฝง รวมถึงการมีโครงการที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตประชาชน คือ 1.โรงพยาบาล 2.งบท้องถิ่นในการดูแลถนนในชุมชน 3.การศึกษา 4.การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นเรื่องสำคัญหลังจากที่ผ่านมาเน้นโครงการขนาดใหญ่เป็นหลัก เพราะงบประมาณรัฐที่ให้มาไม่เพียงพอหลังจากมีการจัดงบประมาณตามรายหัวประชากร แต่ก็หวังว่า อีอีซีจะเกิดขึ้นตามแผนและจะเป็นประโยชน์กับประชาชนใน 3 จังหวัดของอีอีซี

นายสาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการขยายตัวมาก โดยคาดว่า การผลิตจะขึ้นไปถึง 3 ล้านคันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านคัน ซึ่งการผลิตในระดับนี้มีความเป็นไปได้เมื่อมีอีอีซี แต่การลงทุนในพื้นที่ที่ขยายมากเป็นของต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐควรกำหนดเงื่อนไขที่นักธุรกิจไทยมีการลงทุนมากขึ้น โดยการลงทุนของฟอร์ดในสหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขสัดส่วนชิ้นส่วนรถยนต์ของนักธุรกิจท้องถิ่น


090861-1927

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะมีประมาณ 2 แสนคน ถือว่าพึงพอใจกับการทำงานในอีอีซี แต่จะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าต่อเนื่อง โดยขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอมตะที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไต้หวันในการเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรม ในขณะที่ การพัฒนาแรงงานระดับอาชีวศึกษา ได้ร่วมมือกับโรงงาน เพื่อเปิดสอนระดับทวิภาคี เพราะการเรียนในโรงงานจะได้เรียนรู้เครื่องจักรกลมากกว่า

นายสมยศ ธนพิรุณธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ กลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับสมาร์ทซิตี้ โดยเริ่มต้นต้นที่เมืองพัทยา รวมถึงจะพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เพื่อให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานวางไว้หมดแล้วและจะรองรับการส่งเสริมพัฒนาสตาร์ทอัพ

นายวิบูลย์ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อีอีซีที่มีการพัมนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เช่น สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นพื้นที่เดี่ยวของไทยที่มีการเดินทางสะดวกคล่องตัว ซึ่ง ททท. จะใช้โอกาสนี้ในการสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในอีอีซี โดยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลให้คนในพื้นที่ เช่น คลาวด์ เทคโนโลยี ซึ่งมีสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ที่ร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยจะเปิดให้มีการเรียนออนไลน์ด้วย

"นอกจากนี้ ในอีอีซีมีโรงงานมากและมีแผนที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยผ่านการคัดเลือก 200 รายที่มีศักยภาพ และจะมีการการอุดหนุนคูปองรายละ 10,000 บาท ให้เอสเอ็มอีซื้อซอฟต์แวร์จากสตาร์ทอัพนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบคลาวด์และฮาร์ดแวร์"


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รฟท.-EEC ดีเดย์เชิญ 31 ราย แจงข้อสงสัยรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
อุตฯผนึกญี่ปุ่นหนุนร่วมมือEECต่อยอดConnected Industries


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว