'ภัยน้ำ' โจทย์ใหม่ กนง. คาดปลายปี "ดอกเบี้ยขึ้น" !!

07 ส.ค. 2561 | 10:01 น.
นักเศรษฐศาสตร์ ชี้! 'ภัยน้ำ' ประเด็นความเสี่ยงใหม่ ต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว แถมการเมืองภายในและสงครามการค้ายังรอประเมิน จับท่าที "บอร์ด กนง." เสียงไม่เป็นเอกฉันท์ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ด้าน กกร. จับตาพิพาทการค้าสหรัฐฯ และจีน ปัญหาน้ำท่วม ก่อนทบทวนจีดีพีเดือน ต.ค. นี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมครั้งที่ 5 ของปี ในวันที่ 8 ส.ค. 2561 ซึ่งตลาดยังคาดการณ์ว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อเนื่องที่ 1.5% หลังจากล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง (กรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี ซึ่งการประชุม กนง. ในรอบปีนี้ ได้ส่งสัญญาณเชิงปริมาณ จากจำนวนเสียงกรรมการที่ไม่เป็นเอกฉันท์แล้ว 2 ครั้ง และ กนง. เริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space สำหรับอนาคตมากขึ้น หลังจากมีมติ 5 ต่อ 2 เป็น 1.50% ต่อปี จาก 1.75% ในการประชุมที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 และยังคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

 

[caption id="attachment_304606" align="aligncenter" width="303"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด[/caption]

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กนง. รอบนี้ มีเรื่องภัยน้ำท่วมเป็นประเด็นความเสี่ยงภายในประเทศใหม่ เพิ่มเข้ามาจากเรื่องสงครามทางการค้าที่ยังไม่จบ ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้น จึงมีประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งปี และคาดว่า การตัดสินนโยบายของบอร์ด กนง. จะมีมติออกมาไม่เป็นเอกฉันท์เช่นครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะในระยะ 1-2 เดือน จะเห็นธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง หรือ ธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต่างจากไทย ที่มีความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนโยบายดอกเบี้ยในรอบนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อปี ในครั้งนี้ แต่ท่าทีของ กนง. บอกชัดว่า ต้องการสร้าง Policy Space หรือขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง โดยขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของ กนง. จะมองเวลาไหนเป็นจังหวะเหมาะ แต่มอง 2 กรณี คือ ถ้าปีนี้ไม่ขึ้น คาดว่าปีหน้าจะเห็น กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง แต่ปีนี้น่าจะปรับเร็วขึ้น ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายขยับ เชื่อว่า ธนาคารในระบบจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามทันที

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายรอบปลายปี 1 ครั้ง และปีหน้าอีก 1 ครั้ง โดยทั้งปีหน้า ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.00% ต่อปี บนสมมติฐานอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบและจีดีพีอยู่ในระดับ 4-5% เป็นจุดเหมาะสมและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ยั่งยืน ทั้งนี้ แนวโน้มการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้น จึงเอื้อให้ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เพื่อป้องกันแรงกระชากจากเงินเฟ้อที่อาจปรับเร็วในอนาคต

ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในระยะข้างหน้า กกร. ยังต้องติดตามประเด็นการตอบโต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้ปัจจุบันจะมีผลกระทบวงจำกัด แต่หากการตอบโต้ยังมีอยู่ อาจจะเห็นผลกระทบวงกว้างขึ้นในปี 2562 ขณะเดียวกันปัญหาน้ำท่วมยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามอยู่ แต่เบื้องต้นคาดว่า ผลกระทบไม่น่าจะเท่ากับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งวันนี้ยังเป็นการประเมินสถานการณ์ จึงยังไม่ได้ประมาณผลกระทบเป็นตัวเลข ทั้งนี้ จะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร กกร. จะมีการประชุมเพื่อปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน ต.ค. นี้


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 ส.ค. 2561 หน้า 24-23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'กนง.' มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คง 'อาร์พี' 1.5% ต่อปี
จี้กนง.ส่งสัญญาณชัด ชี้จังหวะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีหน้า


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว