ไทยทีวีปิดฉากทีวีดิจิตอล รอลุ้นกสทช.เคาะ'คืนไลเซนส์'

10 ก.พ. 2559 | 12:30 น.
ยืดเยื้อกันมาสักพักใหญ่สำหรับกสทช. และไทยทีวี หลังจากฟ้องร้องกันไปมาเป็นเวลากว่าหลายเดือน ล่าสุดได้เวลายุติ เมื่อบริษัท ไทยทีวี จำกัด ที่ผิดนัดชำระค่างวดประมูลครั้งที่ 2 และค่าธรรมเนียม เลยเส้นตายเกินกรอบระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตที่ครบกำหนด 90 วันไปแล้วเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้เรียกประชุมเพื่อจะได้รายงานอย่างเป็นทางการ และลงมติสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท ไทยทีวี จำกัด

 ย้อนฝันคาดหวังเป็นที่ 1

ย้อนไปจุดเริ่มต้นครั้งประมูลวันแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 บริษัท ไทยทีวี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล 2 ช่อง คือ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 1.32 พันล้านบาท 1 ช่อง และ หมวดหมู่เด็กและเยาวชน 648 ล้านบาท อีก 1ช่อง โดยครั้งนั้นนางพันธ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทย ทีวี จำกัด หรือ"เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล" ได้ร่วมมือกับ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) เตรียมปั้นช่องข่าวให้เกิด โดยประกาศความมั่นใจจะเป็นช่องข่าวอันดับ 1 ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมวางเป้าหมายรายได้ปีแรกอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท

แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่าดับฝัน เพียงถึงกลางปี 2557 บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาให้ข้อมูล ถึงกรณีการยกเลิกสัญญาทำงานร่วมกันกับบริษัท ไทยทีวี จำกัด เนื่องจากการทำงานไม่สอดคล้องกัน

ถัดมาไม่นานไทยทีวีเริ่มมีสัญญาณว่าไปไม่ไหว โดยเมื่อครบกำหนดชำระค่างวดที่ 2 เป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอลรายเดียวที่ยังไม่ชำระ และต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้มีหนังสือถึง กสทช. ขอยกเลิกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และเลิกการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ในช่องไทยทีวีหมวดหมู่ช่องข่าวสารสาระ และช่อง LOCA หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว

 ภาระหนี้ประมูลคงค้าง 1.63 พันล.

สำหรับเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล ของช่องไทยทีวี ในหมวดข่าวสารสาระ วงเงินที่บริษัท ไทยทีวี จำกัดประมูลไปได้คือ 1.328 พันล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในงวดที่ 1 ช่องไทยทีวีได้ชำระมาแล้ว 220.8 ล้านบาท และมีภาระต้องทะยอยชำระในงวดที่ 2 จำนวน 176.8 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 243.6 ล้านบาท งวดที่ 4 จำนวน 243.6 ล้านบาท งวดที่ 5 จำนวน 221.6 ล้านบาท และงวดที่ 6 จำนวน 221.6 ล้านบาท รวมเงินที่ยังค้างในงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 ค้างชำระอยู่1.1072 พันล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยในส่วนนี้มีธนาคารกรุงเทพเป็นแบงก์การันตีวางไว้อยู่แล้ว

ขณะที่ช่อง LOCA หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว วงเงินที่ประมูลไปได้ทั้งหมด 648 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในงวดที่ 1 ช่อง LOCA ได้ชำระมาแล้ว 120.8 ล้านบาท ในงวดที่ 2 ที่จะต้องมีการชำระในครั้งนี้อีก 92.8 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 115.6 ล้านบาท งวดที่ 4 จำนวน 115.6 ล้านบาท งวดที่ 5 จำนวน 111.6 ล้านบาท และงวดที่ 6 จำนวน 111.6 ล้านบาท ซึ่งรวมเงินที่ยังค้างในงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 ค้างชำระอยู่ 527.2 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้
รวมทั้ง 2 ช่องแล้วคงค้างชำระอยู่ 1.634 พันล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 ซัดกสทช.ทำงานไม่เข้าเป้า

นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ช่อง ไทยทีวี และ โลก้า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทได้พิจารณาการปรับเป้ารายได้ใหม่ จากเดิมเมื่อต้นปี 2557 ที่เคยวางเป้ารายได้รวมทั้ง 2 ช่องอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยปีนี้ปรับเหลือเพียงแค่ 300 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุการปรับเป้าครั้งนี้มาจากการรับชมของผู้ชมในครัวเรือนยังเข้าไม่ถึงประชาชนได้ครอบคลุม ทั้งนี้มาจากสาเหตุการแจกคูปองที่ล่าช้า และการทำงานของกสทช.ที่ไม่เป็นไปตามแผน และยืนยันจะไม่จ่ายเงินชำระค่าประมูลงวดที่ 2 แน่นอน

"บริษัทมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เปรียบเหมือนบริษัทคล้ายกับสุนัขที่คาบก้อนเนื้ออยู่ แล้วไปเห็นเงาก้อนนั้นมันใหญ่กว่า เลยเลือกทิ้งทีวีพูล แชนแนลไป ซึ่งส่งผลให้กำไรและชื่อเสียงหดหาย ดังนั้นในช่วงปลายปี 2557 บริษัทจึงวางแผนเปิดช่องทีวีพูล แชนแนลใหม่อีกครั้ง"

ขณะเดียวกันไทยทีวียังดิ้นรนหาทางออก โดยไปดึงสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MVTV มาร่วมเป็นพันธมิตร พร้อมเปลี่ยนชื่อจากช่อง LOCA เป็น MVTV โดยบริษัทได้ขายเวลาให้กับ MVTV จำนวนประมาณ 9 ชั่วโมง

 เรียกร้องสัญญากสทช. 9 ข้อ

อีกทางทางบริษัท ไทยทีวีฯ ยังหาช่องทางต่อสู้ โดยก่อนครบกำหนดได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยในการนัดไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรฏาคม 2558 ทางไทยทีวีผู้ร้อง ยื่นคำรองขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับคำสั่งจากสำนักงาน กสทช. กรณีเรียกเก็บหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงค์การันตี) งวดที่ 2 จำนวน 288 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพ

พร้อมทั้งแจกแจงแผนแม่บท ที่กสทช.เคยสัญญาว่าจะดำเนินการแต่ทำไม่ได้ตามแผน จำนวน 9 ข้อ ได้แก่ 1.การแจกคูปองล่าช้า 2.การแจกกล่องแปลงสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล จากเดิมที่เคยระบุไว้จะแจกเพียงกล่องทีวีดิจิตอล แต่ปัจจุบันกลับแจกกล่องไฮบริด ซึ่งรับชมได้ทั้งทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิตอล 3.การยินยอมให้ช่อง 3 อนาล็อก ออกคู่ขนานกับทีวีดิจิตอลแบบไม่เป็นธรรม 4.การติดตั้งเสาสัญญาณล่าช้ากว่าแผนแม่บทที่วางไว้

5.การทำประชาสัมพันธ์ไม่จริงจัง 6.กฎมัสต์แครี่ไม่อยู่ในทุกแพลตฟอร์ม 7.ข่าวบันเทิงนับเป็นข่าวประเภหนึ่งตามพจนานุกรม แต่กสทช.ไม่ยอมรับว่าข่าวบันเทิงคือข่าวประเภทหนึ่ง ส่งผลให้ไม่สามารถนำจุดแข็งมาสร้างรายได้ 8.กสทช.ไม่สามารถทำหมายเลขช่องให้อย่ในทีวีทุกแพลตฟอร์มได้ และ 9.กสทช.ไม่กำหนดเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนอย่างชัดเจน ทำให้ผ้ประมูลไม่สามารถขอรับเงินสนับสนุนเพื่อรายการข่าวและสาระรวมถึงเรื่องเด็กและประชาชน

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ศาลปกครองนัดไต่สวนรอบที่ 2 ซึ่งทางออกครั้งนั้นเป็นการไกล่เกลี่ยและหาทางออกที่ดีร่วมกัน ระหว่างกสท.และบริษัท ไทยทีวี จำกัดโดยมีข้อกำหนดภายในระยะเวลา 3 เดือน (สิ้นสุด 31 ตุลาคม 2558) โดยไทยทีวีจะต้องหาพันธมิตรรายใหม่ ที่มีคุณสมบัติตรงกับกสทช.ระบุ พร้อมทั้งดำเนินการจ่ายค่าประมูลงวดที่ 2 หากไม่สามารถดำเนินการได้พักใช้ใบอนุญาตเป็นระยะเวลา 30 วันและขยายโอกาสให้ออกไป 3 ครั้ง รวมเป็น 90 วัน ซึ่งหากครบในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ทางไทยทีวียังไม่เข้ามาเจรจา หรือนำเงินเข้ามาจ่าย จะต้องดำเนินการลงโทษสู่กระบวนการถัดไป คือการเพิกถอนใบอนุญาต

 ถอนไลเซนส์บังคับแบงก์การันตี

และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานับเป็นวันสุดท้ายของการพักใช้ใบอนุญาตจำนวน 90 วัน ผ่านเส้นตายไปโดยไม่ปรากฎเงาของบริษัท ไทยทีวี ดังนั้น วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กสท. จึงนัดประชุมเพื่อแจ้งความคืบหน้าให้รับทราบอย่างเป็นทางการ และลงมติเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งหากมติเคาะเป็นที่เรียบร้อย ในวันถัดไปกสท.จะดำเนินการส่งหนังสือถึงธนาคารกรุงเทพทันที เพื่อบังคับแบงก์การันตีในฐานะผู้ค้ำประกันการประมูลต่อไป รวมถึงแจ้งบอร์ดกสทช. ที่มีนัดประชุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์

รวมทั้งมีลุ้นว่าบอร์ดกสทช.จะอนุมัติแผนรับคืนไลเซนส์ตามที่คณะทำงานเสนอหรือไม่ โดยผู้ประกอบการต้องชำระค่างวดที่ 2 แล้ว ส่วนภาระค่างวดคงค้างอีก 4 งวดที่เหลือเป็นอันพับ ซึ่งจะเสนอให้บอร์ดกสทช.พิจารณาอนุมัติในวันที่ 10กุมภาพันธ์นี้เช่นกัน

ช่องทางนี้ทำให้ทางธนาคารกรุงเทพในฐานะแบงก์การันตีของบริษัท ไทยทีวี หวังอยู่ว่า หากบอร์ดกสทช.อนุมัติแนวทางนี้จริง ก็มีเงื่อนไขที่ทางบริษัทไทยทีวีฯ จะขอใช้สิทธิ์ในเงื่อนไขเดียวกันบ้าง โดยอาจยอมกัดฟันชำระค่างวดที่ 2ที่คงค้าง 268.8 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องเสียหายก้อนใหญ่ถึง 1.63 พันล้านบาท ชะตากรรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอลและผู้เกี่ยวข้องจะชี้ชัดวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559