“500 ซีอีโอไทยเชื้อสายจีน” ไข้ขึ้น ค้าปลีก-ส่งยุคใหม่เขย่าธุรกิจ “สะเทือน”

09 ส.ค. 2561 | 05:37 น.
ในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาสที่ 2/2561 โดยสำรวจจากผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีน (ระดับซีอีโอ) ประมาณ 500 รายในเครือข่ายภาคีธุรกิจหอการค้าไทย-จีน และสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีนที่มีกว่า 8,000 รายทั่วประเทศ ใน 3 หัวข้อหลักคือ

1.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและจีน 2.สภาวะทางเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ภาคการผลิต/สาขา (เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง, การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม, การก่อสร้าง, การขายส่งและการขายปลีก, ที่พักและบริการด้านอาหาร และบริการอื่นๆ) และ 3.สภาวะอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจยิ่ง

chayodom รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงผลการสำรวจ ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนในไตรมาสที่ 2/2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ว่า มีแนวโน้มดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการค้ารวมระหว่างประเทศ มูลการลงทุนรวมระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ในช่วงที่ทำการสำรวจ ยังไม่มีเหตุการณ์อุบัติเหตุทางเรือที่เกิดขึ้นในทะเลของจังหวัดภูเก็ต) อย่างไรก็ตามได้มีการประเมินจากผู้วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลระยะสั้นต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทย ขณะที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวจากจีนมาเยือนประเทศไทยในระยะยาวยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง

appchinese-tourists-group ทั้งนี้ประมาณการอนาคตอีก 6 เดือนถัดไป ผลการสำรวจคาดการณ์ในไตรมาสที่ 4/2561 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 พบว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในทุกมิติ และดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเปรียบเทียบย้อนหลังสองไตรมาส ส่วนรายได้จากการส่งออกของไทยในปลายปี ณ ไตรมาสที่ 4 ปีนี้ คาดว่าจะดีกว่าในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเติบโตเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

ส่วนผลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 2/2561 เทียบกับไตรมาสที่ 1/2561 คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนของเอกชนในประเทศไทยนั้น ยังไม่แตกต่างไปจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ผลการสำรวจได้มีข้อกังวลในส่วนของการบริโภคของภาคเอกชนที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลง

7-678x381 ทั้งนี้หากพิจารณารายภาคเศรษฐกิจแล้วกลุ่มนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การป่าไม้ และประมง กลุ่มธุรกิจการขายส่งและขายปลีก กลุ่มธุรกิจที่พักแรมและด้านอาหาร และรวมถึงกลุ่มธุรกิจบริการอื่นๆ คาดว่าในไตรมาสที่ 2/2561 จะมีการหดตัวลงของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องไปกับการคาดการณ์ถึงการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่กล่าวมานั้นคาดการณ์ว่า จะชะลอตัวลง และเป็นส่วนที่อธิบายการคาดการณ์การหดตัวลง ของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนภายในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออกของไทยยังเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นที่ผ่านมา

ส่วนคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะเติบโตในอัตราเดียวกันกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการเติบโตนั้นน่าจะมาจาก 2 ภาคทางเศรษฐกิจ คือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออกของประเทศไทย การคาดการณ์การบริโภคของภาคเอกชนในประเทศไทยนั้นแม้ว่าจะกระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังไม่มากนัก สรุปได้ว่าผลการสำรวจแนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เทียบกับไตรมาสที่ 2 ภาพรวมเศรษฐกิจนั้นทรงตัว

ppp ขณะที่ผลการสำรวจสภาวะกิจการของผู้ประกอบการ รายภาคการผลิต เปรียบเทียบไตรมาสที่ 2 กับไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ในกลุ่มธุรกิจเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง และกลุ่มธุรกิจภาคบริการอื่นๆ คาดว่าธุรกิจของตนเองนั้น มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง ทั้งทางด้านการผลิตและการขาย ในทางตรงกันข้ามธุรกิจการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจที่พักแรมและบริการทางด้านอาหาร คาดว่าการผลิตยอดขายหรือรายรับมีแนวโน้มเพิ่มที่สูงขึ้น ส่วนธุรกิจการก่อสร้างคาดการณ์ว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจมากไปกว่าที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นมูลค่าโครงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และสาธารณูปโภค เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่ 3 กับไตรมาสที่ 2

ส่วนธุรกิจเกษตรกรรม ป่าไม้และการประมง คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายโดยรวมอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลง กลุ่มธุรกิจผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจการก่อสร้าง คาดการณ์ว่ายอดขายราคาจะปรับตัวดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิต และการแข่งขันก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ธุรกิจการค้าส่ง ค้าปลีก คาดว่าธุรกิจของตนเองนั้นน่าจะมีรายรับที่สูงขึ้น เนื่องมาจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการแข่งขันจากคู่แข่งภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย การสำรวจธุรกิจบริการอื่นๆ คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 3 ยอดการส่งออกน่าจะดีขึ้น และสามารถที่จะปรับค่าบริการให้สูงขึ้นได้ เพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

0708171499490068 ด้านนายประสงค์ เอาฬาร กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า จากผลการสำรวจผู้ประกอบการยังมีข้อกังวลในส่วนของการบริโภคของภาคเอกชนที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลงทั้งในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้นั้น มาจากหลายปัจจัย เช่น การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นในทุกธุรกิจ จากมีผู้ประกอบการมากขึ้นทำให้สินค้าและบริการโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งการโอเวอร์ซัพพลายจะไม่มีปัญหา หากเศรษฐกิจไทยโตได้ระดับ 5-6% แต่หากโตได้ระดับ 4-4.5% หรือไม่เกิน 5% ตลาดอาจจะรองรับไม่เพียงพอกับกำลังการผลิต

ปัจจัยที่ 2 ระบบการจัดจำหน่ายหรือการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริโภคหากจะซื้อสินค้าจะไปที่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ แต่ปัจจุบันมีการค้าออนไลน์เกิดขึ้นมาก คนหันไปช้อปปิ้งผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น ทำให้การค้าส่ง-ค้าปลีกเปลี่ยนโฉมหน้าไป คนอาจจะไปเดินดูสินค้าในห้างฯ แล้วก็ไปซื้อทางออนไลน์ เป็นต้น

13146110581314613005l ปัจจัยที่ 3 นอกจากมีโมเดิร์นเทรด ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์แล้วก็ยังมีคอมมูนิตี้มอลล์เกิดขึ้นมากตามชุมชน และตามเขตเมืองต่างๆ จะไปที่ไหนก็มี ซึ่งเจ้าของต้องแข่งขันทำโปรโมชั่นดึงคนให้เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด ยังไม่รวมถึงตลาดนัดที่มีจำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดกระทบกับธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของผู้ประกอบการ

“ที่กล่าวมาจากผลการสำรวจได้ส่งผลกระทบต่อผู้ทำธุรกิจเหล่านี้มาหลายสิบปี ซึ่งธุรกิจของสมาชิกหอการค้าไทย-จีน ทำธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก อย่างน้อยผ่านมา 3-4 รุ่นแล้ว โดยทำธุรกิจมากว่า 20 ปี สัดส่วนกว่า 80% ขณะที่ทำธุรกิจรุ่นต่อรุ่นมา 30-40 ปี หรือบางรายเป็นร้อยปีก็มี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้อารมณ์และความรู้สึกของกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของสมาชิกเกิดความกังวลมากในขณะนี้”

รายงานพิเศษ โดย กองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ โต๊ะข่าวเกษตร-การค้า