‘มีชัย’ เบรกรื้อกฎหมายกกต.ชุดใหม่แก้ไขผู้ตรวจเลือกตั้งได้

08 ส.ค. 2561 | 12:11 น.
 

589208579 “มีชัย” ขวางสนช.เสนอรื้อกฎหมายล้มผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชี้กกต.ชุดใหม่แก้ไขได้หากพบคุณสมบัติไม่เหมาะสม ด้านเลขาฯกกต.ยันการสรรหาทำตามกฎหมาย เผยตามระเบียบยกเลิกไม่ได้ หวั่นไม่ทันเลือกตั้งส.ว.กันยายนนี้

ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ พลันเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นช่วงรอยต่อของกกต.ชุดปัจจุบัน ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน และชุดใหม่ที่กำลังจะรับไม้ต่อ

ปฏิกิริยาดังกล่าวส่งผลให้ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวบรวมรายชื่อ สนช. 36 คน เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ โดยเพิ่มมาตรา 28/1 กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนการให้ กกต.ออกระเบียบ โดยอ้างว่าอาจจะเป็นช่องว่างให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งถูกฝ่ายการ เมืองครอบงำได้
5265669969 ขณะที่กกต.ชุดปัจจุบันยืนยันไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจของกกต.ชุดใหม่ เพราะกระบวน การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เตรียมการไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 แล้ว ถ้ารอ กกต.ชุดใหม่ อาจไม่ทันโรดแมปเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2562

ความเห็นแย้งทางกฎหมายระหว่างกกต. และ 36 สนช. กระทั่งนำมาสู่การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีข้อสังเกตจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นมือไม้ของ กกต.ในการทำงานในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการเพื่อให้การทำงานเกิดความรวด เร็ว และยังไม่ทราบแนวทางที่ สนช.จะเสนอแก้ไขกฎหมาย

“ทำไมถึงไปยุ่งกับคนอื่นเขา เพราะนี่มันมือไม้ของกกต.” ประธาน กรธ.ระบุ พร้อมอธิบายว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายของสนช.สามารถกระทำได้เพราะ เป็นอำนาจทางนิติบัญญัติ จะบอกว่าเป็นการแทรกแซงอำนาจ กกต.คงไม่ได้ เพราะเป็นความคิดเห็นของ สนช.ที่จะเสนอแก้ไขกฎหมาย

ส่วนการแก้ไขกฎหมายจะมีประเด็นเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น นายมีชัย มองว่าเป็นเรื่องนานาจิตตัง เวลาที่สนช.ตั้งคณะกรรมการหรือ คณะกรรมาธิการ ก็ไม่ได้แปลว่าคนข้างนอกจะพอใจ อะไรที่เป็นอำนาจของคนอื่นก็ต้องฟังคนอื่น
589208574 ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงกระบวนการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ควรกระทำควบคู่กันไประหว่าง กกต.ชุดปัจจุบันและชุดใหม่ ใครที่ถูกตั้งมาแล้วก็เป็นอำนาจของ กกต. เพราะกลัวไม่ทันการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ กกต.ชุดใหม่ก็มีสิทธิจะดำเนินการเช่นกัน เพราะเท่าที่ดูประกาศของ กกต.ทำให้ไม่แน่ใจว่ากกต.ได้ทำการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ เพราะในตอนท้ายของประกาศมีระบุว่า ประกาศมาเพื่อทราบเพื่อเสนอความคิดเห็นและจะได้แต่งตั้งต่อไป ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ดังนั้น หากยังไม่ได้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เท่ากับ ว่า กกต.ชุดใหม่สามารถเข้ามาพิจารณาได้ และคิดว่าน่าจะแก้ไข หากพบว่ามีบุคคลที่ไม่เหมาะสม

นายมีชัย ยํ้าอีกว่า เป้าหมายของ กรธ.ที่ต้องการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งก็เพื่อให้เป็นมือไม้ของ กกต.ไม่ใช่ผู้มาทำหน้าที่แทน กกต. เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ กกต. ดังนั้นต้องเลือกคนที่กกต.ไว้ใจได้มาเป็นหูเป็นตาแทน

ดังนั้นเมื่อมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกกต. ต้องควรสอบถามความคิดเห็น กกต. เพราะขนาดตอนที่ กรธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังต้องฟังกกต.เป็นหลัก เพราะกกต.มีประสบการณ์และพื้นฐานดีกว่า เว้นแต่ในทางทฤษฎีที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้

[caption id="attachment_304448" align="aligncenter" width="503"] พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.[/caption]

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณี สนช.จะเสนอแก้กฎหมายที่มาของ ผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า กฎหมายฉบับนี้ออกโดย สนช.จึงเชื่อว่า สนช.จะดูอย่างรอบคอบแล้วว่าควรจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ทั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งถือว่าเป็นเครื่องมือของกกต. ดังนั้นถ้าไม่กลัวจะเกิดการทุจริตหรือฮั้วกันในการเลือกตั้งส.ว.ก็อาจกลายเป็นจุดบกพร่องในการทำงานได้

“การที่จะให้ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้งไปก่อน เท่าที่ดูจากระเบียบแล้วคงไม่ได้” เลขาธิการ กกต. ระบุ พร้อมกล่าวว่า ในการเลือกตั้งส.ว. ที่จะเกิดขึ้นต้องใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดนี้ดำเนินการเลย เพราะเมื่อดูจากพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่สนช.นำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่าประมาณวันที่ 15 กันยายนนี้ กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ต้องเริ่มแล้ว ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งส.ว.

“หากกฎหมายใหม่ที่จะแก้ไขยังไม่มา ต้องเดินหน้าดำเนินการตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.ที่มีอยู่ ซึ่งได้ออกระเบียบที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” เลขาธิการ กกต.ระบุ

พร้อมกล่าวถึงขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการติดประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ที่จังหวัด เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบคุณสมบัติและความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งกระบวนการคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นและประกาศได้ต้นเดือนกันยายนนี้

|เซกชั่น : การเมือง 
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3390 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว