บีโอไอแนะผู้ผลิตชิ้นส่วน ปรับตัวหนีรถยนต์ไฟฟ้า

11 ส.ค. 2561 | 09:54 น.
ถือว่าเป็นลูกหม้อบีโอไออีกคน ที่มีบทบาทในการดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมหลักอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

"โชคดี แก้วแสง" รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพราะหากมองแค่เฉพาะ 3 กลุ่มดังกล่าว ล้วนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนพัฒนาการลงทุนของประเทศ ที่รวมอยู่ใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนที่มีมูลค่าสินค้าต่อชิ้นสูงขึ้นนั่นเอง

363

รองเลขาธิการบีโอไอ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังถูกจับตาว่าเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไล่เลียงไปจะเห็นว่ากลุ่มยานยนต์ ที่เวลานี้โลกโฟกัสไปที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี รถยนต์ในอนาคตมากขึ้น และขึ้นอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละประเทศ

โดยที่ผ่านมานโยบายจาก บีโอไอจะให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยให้ส่งเสริมการผลิตทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถโดยสาร และให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับเทคโนโลยีในการผลิต
090861-1927

เมื่อมาดูการลงทุนในแต่ละประเภท รถ HEV มี 3 ค่ายที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไปแล้วคือค่าย โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยสิ้นสุดการขอรับการส่งเสริมไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

โดยล่าสุดบอร์ดใหญ่บีโอไอ เพิ่งอนุมัติให้การส่งเสริมแก่ บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตรถยนต์ HEV และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,960 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตรถยนต์ HEV และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,821 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจ นะฯ จ.อยุธยา และจ.ปราจีนบุรี จากที่ก่อนหน้านี้ บีโอไอได้พิจารณาให้การส่งเสริมไปแล้วในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้า

ส่วนรถ PHEV จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยผู้ลงทุนจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 กลุ่มนี้จะมี 2 ค่าย คือบีเอ็มดับบลิว และเบนซ์ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมไปแล้ว โดยโครงการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็ม ดับเบิลยู มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท

สำหรับ BEV จะต้อง เสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5-8 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี ผู้ลงทุนจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งรถประเภทนี้ปัจจุบันยังไม่มีรายใดยื่นคำขอรับการส่งเสริมเข้ามา และในเร็วๆนี้จะมียื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามารายแรก

 

ต้องปรับตัว3ด้าน

เมื่อถามว่าการมาของรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากน้อยแค่ไหน เพราะการใช้ชิ้นส่วนประกอบในรถยนต์ไฟฟ้าจะน้อยลง รองเลขาธิการบีโอไอ มองว่า เรื่องนี้จะขึ้นอยู่ที่โมเดล หรือประเภทรถไฟฟ้าที่ผลิตออกมา ถ้าเป็นรถอีวีล้วนๆ จะไม่มีเครื่องยนต์ แต่จะมีชิ้นส่วนใหม่เกิดขึ้นคือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ส่วนจะเกิดผลกระทบหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของค่ายรถ เพราะบางค่ายจะค่อยๆ ปรับตัว และมองว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เองก็ต้องปรับตัว 3 ด้านคือ 1.ปรับไลน์ผลิตที่มีแล้วหันไปพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่ เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ อากาศยาน 2.ออกไปลงทุนด้านชิ้นส่วนรถยนต์ต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันแต่ละค่ายมีฐานตลาดส่งออกอยู่แล้ว โดยออกไปลงทุนยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า โดยใช้ความได้เปรียบในแง่การมีทักษะ มีประสิทธิภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่แล้ว 3.หันไปผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์

อย่างไรก็ตามการมาของรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องขึ้นอยู่กับตลาดด้วย และการจะลงทุนเร็ว- ช้าก็ขึ้นอยู่ที่ตลาดแบตเตอรี่ด้วย ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังมีต้นทุนผลิตที่สูงอยู่ โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

IoTมาแรง

รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวต่อถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อีกว่า มาแรงหรือไม่จะขึ้นอยู่ที่เทค โนโลยีที่ไปเร็ว มาเร็ว ดังจะเห็นว่าเดิมเป็นเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ Internet of Things หรือ IoT ที่เข้ามามีบทบาท ใช้ไอทีควบคุมทั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า รวมถึงการลงทุนพัฒนาฮาร์ดดีสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive:HDD) จานแม่เหล็กหัวอ่าน ที่ขณะนี้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ในปริมาณมากขึ้น และสถานะแหล่งผลิตขนาดใหญ่ก็รวมศูนย์อยู่ในประเทศไทย รวมถึงชิ้นส่วนประกอบใน HDD ที่ขยายตัวตาม เช่น IC และ PCBA และเซมิคอนดักเตอร์ เหล่านี้จะเป็นชิ้นส่วนที่ป้อนให้

ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในระยะนี้ไม่มีโครงการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดการลงทุนจะเป็นไบโอพลาสติก ไบโอเคมิคัล แต่เป็นการขยายการลงทุนจากกลุ่มเดิมและกลุ่มทุนยุโรป เนื่องจากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีการลงทุนใหญ่ไปแล้วจากนี้ไปจะเป็นการลงทุนต่อเนื่องหรือเป็นการต่อยอดใหญ่ทันกระแสโลกมากขึ้น

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62