บทบรรณาธิการ : ค่าผ่านประตู CPTPP

08 ส.ค. 2561 | 04:33 น.
เขตการค้าเสรีทรานส์แปซิฟิก (TPP) กลายร่างเป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัว แต่สมาชิกเดิม 11 ประเทศได้ลงนามความตกลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 และคาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2562 ซึ่งจะเป็นความตกลงที่ครอบคลุมการเปิดเสรีในแทบทุกสาขา รวมทั้งการจัดซื้อ จัดจ้างโดยรัฐที่ส่วนใหญ่แต่ละประเทศหวงแหนสิทธิหรือความตกลงนี้ ซึ่งมีความพยายามผลักดันการเปิดเสรีหรือร่างกรอบกติกา การจัดซื้อโดยรัฐมาตั้งแต่ปี 2000 ในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO)

กรอบความตกลง CPTPP นี้ถูกริเริ่มเพื่อคานและถ่วงดุลกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ อาเซียน และคู่เจรจาอยู่ในกรอบนี้ที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ต้น เพียงแต่ญี่ปุ่นอาจจะให้น้ำหนักน้อยไปเมื่อเทียบกับ CPTPP ซึ่งญี่ปุ่นเข้ามาเป็นแกนหลักในการผลักดันแทนที่สหรัฐฯ โดยเมื่อผู้นำระดับสูงของไทยไปเยือนญี่ปุ่นทุกครั้ง หัวข้อสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาหารือแทบทุกรอบมักเป็นการเข้าร่วม CPTPP ของไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่มีหลักการว่าหากประเทศใดขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายหลังจะต้องเจรจาตกลงเงื่อนไขกับสมาชิกเดิมทุกประเทศก่อน และมีเงื่อนไขสำคัญต้องยอมรับข้อบท กฎเกณฑ์ และภาคผนวกใต้ความตกลง รวมทั้งการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ไทยไม่มีการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในความตกลงการค้าเสรีกรอบอื่นใดมาก่อน

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยในแต่ละปีมีมากกว่าหมื่นโครงการ งบประมาณไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2560 มีงบจัดซื้อจัดจ้าง 1.389 ล้านล้านบาทใน 1.18 หมื่นโครงการ ซึ่งการเปิดตลาดในทางเลวร้ายสุด มีแนวโน้มที่จะสูญเสียงบก้อนนี้ไปให้กับภาคี CPTPP อันเนื่องมาจากขีดความสามารถแข่งขันที่แตกต่างกันมากโดยเฉพาะ SMEs ของไทย อาจมีผลกระทบการใช้วัตถุดิบภายใน กระทบเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่สำคัญรัฐจะถูกลดทอนอำนาจในการใช้นโยบายจัดซื้อจัดจ้างในการพัฒนาประเทศ

ส่วนข้อดีของการเปิดตลาดส่วนนี้ จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อันเนื่องมาจากแรงกดดันของชาติสมาชิก ได้งานเต็มเม็ดเต็มหน่วยแทนการรั่วไหลของเม็ดเงินงบประมาณในสถานการณ์ที่ผ่านมา เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องเสนอความเห็นและกำหนดท่าทีให้กับรัฐบาลไปเจรจาต่อรองกับสมาชิก ชั่งน้ำหนักผลดี-ผลเสียข้อตกลงนี้ ในหัวข้อนี้ ไม่ให้การเข้าร่วม CPTPP มีค่าผ่านประตูแพงเกินไป

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3390 หน้า 6 | ระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค. 2561