เคล็ดไม่ลับยกระดับSMEs แนะใช้ไอทีสร้างความต่างลุยออนไลน์

08 ส.ค. 2561 | 10:37 น.
เทคโนโลยีมีส่วนช่วยทำให้การทำธุรกิจของผู้ประกอบการยุคปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หากรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้การมองเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว แล้วรู้จักนำมาใส่ไอเดียในการนำเสนอ เพื่อเพิ่มมูลค่า ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้

thumbnail_ภาพบรรยากาศ5

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสัมมนา “Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0” ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งภายในงานดังกล่าวมีช่วง “Stand Up - Talk” โดยเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาเปิดเผยเคล็ดลับเฉพาะของแต่ละคน
นำ IoT มาใช้ในการปลูกเมลอน

นายณัฐ มั่นคง ผู้บริหาร โคโค่เมล่อนฟาร์ม กล่าวว่า ตนเองมีความเชี่ยวชาญในการปลูกเมลอนเป็นอย่างดี รู้ว่าสภาพความชื้นในดินต้องอยู่ที่เท่าไหร่ถึงจะมีความเหมาะสม รวมถึงต้องลดนํ้าเมื่อใด และจะต้องวางระยะในการปลูกอย่างไรถึงจะได้ผลผลิตลูกเมลอนตามที่ต้องการ เป็นต้น แต่ด้วยความที่มีพื้นที่ในการปลูกเมลอนอยู่ 10 ไร่ 3 งาน หากจะดูแลด้วยตนเองทั้งหมดคงจะไม่ไหว ดังนั้นจึงต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพ โดยทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ thumbnail_คุณณัฐ มั่นคง ผู้บริหาร โคโค่เมล่อนฟาร์ม 2

ทั้งนี้ วิธีที่เลือกก็คือการใช้อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things : IoT) ซึ่งหมายถึงการที่อุปกรณ์ต่างๆได้ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้ตนสามารถสั่งการควบคุมการใช้อุปกรณ์ต่างๆเพื่อใช้ในการปลูกเมลอนได้ทางอินเตอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิของโรงเรือน และค่าของแสงในแต่ละวัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีผลผลิตของเมลอนทั้งสิ้น

“เราปลูกเมลอนในโรงเรือน โดยมีการคำนวณการให้นํ้าเป็นลิตรต่อต้นต่อวัน เพราะสามารถทราบได้ว่าความชื้นในดินมีค่าอยู่ที่เท่าใด หากน้อยเกินไปก็สามารถลดนํ้าเพิ่มเติมได้ หรือหากความชื้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว แต่เห็นว่าต้นของเมลอนเหี่ยวก็ไม่จำเป็นต้องลดนํ้าเพิ่ม แต่เราจะรู้ว่าต้นเมลอนน่าจะมีปัญหามาจากทางด้านอื่นมากกว่า เช่น ราก เป็นต้น หรือวันใดที่ฝนตก อากาศมีความชื้นสูง พืชไม่ค่อยร้อนส่งผลทำให้การสังเคราะห์แสงลดน้อยลง เราก็จะมีการให้นํ้าน้อยลงประมาณ 50% จากเดิม”

นายณัฐ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อมีการนำ IoT มาปรับใช้ทำฟาร์มสามารถควบคุมผลผลิตให้ได้เกรดเอได้เกือบ 100% ซึ่งเกิดจากประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก โดยสิ่งที่ต้องการจะแนะนำเกี่ยวกับ IoT ก็คือ ไม่ใช่ว่านำ IoT มาติดตั้งในการทำการเกษตรแล้วจะได้ผลโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเกษตรกรจะต้องเรียนรู้ว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการอย่างไร เช่น นํ้า แสง เป็นต้น ซึ่งเมื่อเรารู้ว่าอะไรคือปัจจัยในการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดก็จะทำให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้นว่าจะต้องใช้เครื่องมืออะไรมาติดตั้งบ้าง และจะต้องเชื่อมโยงกับระบบ IoT อย่างไร เพื่อทำให้การทำตลาดง่ายขึ้น
สร้างความต่างเพื่อนำตลาด

นางสาวพิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ เจ้าของแบรนด์คางกุ้งอบกรอบ (OKUSNO) กล่าวว่า thumbnail_คุณพิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ เจ้าของแบรนด์คางกุ้งอบกรอบ OKUSNO ในความเป็นจริงบนถนนที่เดินอยู่ทุกวันแม้ที่จริงแล้วมีเม็ดเงินหล่นอยู่ที่พื้นเต็มไปหมด เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นวัตถุดิบเหล่านั้น เพื่อนำมาทำให้เกิดมูลค่าหรือไม่ ซึ่งเปรียบเสมือนโอกาสที่เข้ามา หากเราไม่ไขว่คว้าเอาไว้เพราะไม่รู้ว่าจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ก็อาจจะสูญเสียโอกาสนั้นไป แต่หากลงมือทำไปแล้วไม่สำเร็จเราก็จะหาทางที่จะทำให้ประสบความสำเร็จจนได้ หรือหากปล่อยโอกาสนั้นทิ้งไป โอกาสดังกล่าวย้อนกลับมาหาเราอีกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เราจะยังมีแรงทำอยู่หรือไม่ เพราะธุรกิจของตนก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการนำสิ่งที่ไม่ได้รับความสนใจมาทำให้เกิดมูลค่า

สำหรับประเทศไทยค่อนข้างจะมีผลผลิตทางการเกษตรที่ค่อนข้างดี และมีมากกว่าประเทศอื่น เรียกว่ามีทรัพยากรที่คุ้มค่าในประเทศ เพียงแต่จะต้องรู้จักมองสิ่งเหล่านั้นให้เกิดมูลค่า และแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากผู้อื่น เพราะตนมีความเชื่อว่าการทำผลิตภัณฑ์ หรือบริการ อะไรก็ตามที่แตกต่างจากตลาดเพียงแค่ 1 จุด ตลาดมักจะขยาย 1 จุดดังกล่าวนั้นให้เรากลายเป็นผู้นำได้ แต่หากเราผลิตผลิตภัณฑ์ หรือบริการตามผู้อื่นในตลาด เราก็จะเป็นผู้ตามอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี จึงอยากให้ผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง หรือเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว มองย้อนกลับไปว่าวัตถุดิบที่มีอยู่สามารถนำมาเพิ่มนวัตกรรมตรงส่วนใดได้บ้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องผลิตภัณฑ์ แต่บรรจุภัณฑ์ก็สามารถเป็นนวัตกรรมได้เช่นเดียวกัน
เทคนิคการทำตลาดออนไลน์

ภ.ญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ thumbnail_ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ 2 และ LINE@ Certified Trainer คนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่คือการมีสินค้าดีแต่ผู้บริโภคไม่รู้จัก โดยการทำตลาดออน ไลน์ให้ประสบความสำเร็จทำได้ไม่ยาก เพียงแค่มี 4 เทคนิคดังต่อไปนี้

1. การสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ ซึ่งอาจจะเป็นการใช้วิธีรีวิว รวมถึงการซื้อโฆษณา และการโพสต์บนสื่อออนไลน์ต่างๆที่ไม่ต้องเสียค่าบริการ

“เราทราบดีอยู่แล้วว่าลูกค้าอยู่บนโลกออนไลน์ในแพลตฟอร์มใดบ้าง ดังนั้น จะต้องนำพาผลิตภัณฑ์ หรือบริการไปอยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้นให้ได้ ซึ่งจะต้องทำในรูปแบบเชิงรุก โดยหมายถึงเมื่อรู้ว่าลูกค้าอยู่บนเฟซ บุ๊ก ผู้ประกอบการก็จะส่งแอดโฆษณาไปให้ผู้บริโภคได้พบเห็นเรา ส่วนเชิงรับคือการใช้คำสำคัญ หรือคีย์เวิร์ดในการค้นหาของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่าเมื่อผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ใดจะเสิร์ชหาคำว่าอะไร”

2. ความน่าสนใจ (Interest) โดยผลิตภัณฑ์ หรือบริการ และแพลต ฟอร์มจะต้องน่าสนใจ เช่น การบอกรายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน รูปถ่ายที่สวยงาม เป็นต้น โดยสิ่งที่จะช่วยให้น่าสนใจคือ รูปโพรไฟล์จะต้องชัดว่าขายอะไร, เปลี่ยนจากร้านค้าธรรมดาให้เป็นร้านค้าขายดี ซึ่งสามารถสร้างได้ด้วยการถ่ายรูปการจัดส่งสินค้าปริมาณมาก, โพสต์รูปไลฟ์สไตล์ดีๆ เพื่อให้เห็นว่าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำธุรกิจ, สร้างภาพลักษณ์ให้เป็นมืออาชีพ เช่น การส่งเทมเพลต (Template) ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในการโพสต์แต่ละครั้ง และต้องเล่าเรื่องให้เป็น ให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจ

3. ความต้องการ (Desire) ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องทำกระบวนการซื้อขายบนระบบออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) โดยสิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องมีเบอร์โทร. หรือไลน์แอดให้ผู้บริโภคติดต่อได้ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยจะไม่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านเว็บไซต์เพราะยังมีความไม่มั่นใจ ซึ่งเทคนิคที่สำคัญก็คือจะต้องปิดการขายให้ได้ภายใน 3 คลิก โดยพฤติกรรมของผู้ใช้งานออนไลน์คือ ต้องการความรวดเร็ว และง่ายที่สุด

และ 4. การมัดใจลูกค้าและเพิ่มยอดขาย คือการทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับเรา และกลับมาซื้อซํ้า โดยอาจจะเป็นการขอรีวิวจากลูกค้า ซึ่งจะทำให้ลูกค้าผู้อื่นที่กำลังลังเลอยู่ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เพราะลูกค้าไม่ได้เชื่อแบรนด์ แต่จะเชื่อผู้ซื้อด้วยกันเอง อีกทั้งยังแสดงถึงความใส่ใจที่ผู้ขายมีแก่ลูกค้าได้ด้วย

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3390 วันที่ 9-11 สิหาคม 2561

e-book-1-503x62-7