เจาะแผนพัฒนาอีอีซี 6 แนวปฏิบัติการ ลงทุน 2.5 ล้านล้าน

08 ส.ค. 2561 | 10:41 น.
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มี  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ นายคณิศ แสงสุพรรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายฯ ยืนยันว่า จะมีการเสนอร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในที่ประชุมพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการจัดทำผังเมืองรวม 3 จังหวัดในอีอีซี ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ดันแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน

ทั้งนี้ แผนดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 6 แผนปฏิบัติการ จำนวน 901 โครงการ วงเงินลงทุนราว 2.5 ล้านล้านบาท โดยรวมเงินลงทุนจากภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตส่งเสริมพิเศษราว 2.5 แสนล้านบาท และเอกชนที่ลงทุนในการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่และศูนย์กลางทางการเงินอีกราว 4 แสนล้านบาท รวมถึงแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล ที่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยู่ระหว่างการจัดทำจำนวน 467 โครงการ เงินลงทุนราว 1 ล้านล้านบาท เข้าไปด้วยแล้ว ซึ่งการดำเนินงานจะแบ่งกรอบเวลาเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะเร่งด่วน(ปี 2560-2561) ระยะปานกลาง(ปี 2562-2564) และถัดไปตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

โดยมี 5 แผนปฏิบัติการที่มีความแน่นอนแล้ว จำนวน 434 โครงการ วงเงินลงทุนขั้นตํ่า 1.054 ล้านล้านบาท ไล่เลียงตั้งแต่แผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค จำนวน 190 โครงการ เงินลงทุน 9.99 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอ โดยมีเป้าหมายจะก่อให้เกิดการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลงได้ 2% ของจีดีพีหรือราว 2 แสนล้านบาทต่อปี และช่วยให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1-3.0 ล้านล้านบาท

ยกระดับเป็นไฮเทคโนโลยี

ส่วนแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 82 โครงการ เงินลงทุน 1.623หมื่นล้านบาท โดยยังไม่รวมเงินลงทุนจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ราว 1.31 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมราว 1.17 แสนล้านบาท ที่จะเป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เป็นรูปธรรม และกำหนดเงื่อนไขการพัฒนาบุคลากรในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

ทั้งนี้ มีการคาดหวังว่าภายในปี 2575 ไทยจะเป็นประเทศไฮเทคโนโลยี เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 6.9% ต่อปี รายได้ของประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,746 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ tp11-3390-a

นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว มีจำนวน 62 โครงการ เงินลงทุน 3.16 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง และการกระจายนักท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาในอีอีซี โดยคาดหวังว่าจะมีผู้มาเยือนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 เท่า จาก 29.89 ล้านคน เป็น 46.72 ล้านคน รายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 1.8 เท่า จาก 2.85 แสนล้านบาท เป็น 5.28 แสนล้านบาท

เร่งสร้างกำลังคนรองรับ

สำหรับแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี จำนวน 73 โครงการ เงินลงทุน 5.38 พันล้านบาท เพื่อผลิตบุคลากรและงานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดฐานความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยมีเป้าหมายผลิตครูหรือวิทยากรต้นแบบในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะเร่งด่วนอย่างน้อย 150 คน เด็กและเยาวชนได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบสารสนเทศ จำนวนอย่างน้อย 4 หมื่นคน เกษตรกรอย่างน้อย 1 หมื่นราย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ใหม่จากมหาวิทยาลัย และจากปี 2562 เป็นต้นไป จะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อย่างน้อย 10 แห่ง และจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน และฝึกอบรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60 หลักสูตร

ส่วนแผนปฏิบติการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ และศูนย์กลางทางการเงิน จำนวน 27 โครงการ เงินลงทุน 574 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาคเอกชนที่จะมาลงทุนในการพัฒนาเมืองใหม่ ราว 4 แสนล้านบาท) โดยขณะนี้อยู่ขั้นตอนของการศึกษาเพื่อเตรียมการดำเนินงาน

แต่อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนดังกล่าว หลังจากที่คณะกรรมการ นโยบายฯให้ความเห็นชอบแล้ว อาจจะต้องมีการปรับแผนปฏิบัติการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

……………….……………….……………….……………….………

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 ส.ค. 2561 e-book-1-503x62-7