เปิดมุมมองการสร้าง Line TV เติบโตแบบยั่งยืน

10 ส.ค. 2561 | 07:45 น.
การสร้างธุรกิจแบบสตาร์ตอัพ หลายๆ คนสร้างขึ้นเพื่อการเติบโตเป็นยูนิคอร์น แล้วขายต่อกิจการ แต่
สำหรับกลุ่มไลน์ (LINE) การสร้างธุรกิจของเขาคือ การสร้างเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและคงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีการต่อยอดแตกธุรกิจออกมาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็เป็นการต่อยอดที่รวดเร็ว แต่กลับเห็นผลสำเร็จ อย่าง Line Today ที่เปิดมาเพียงปีเดียว สามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้มากถึง 33 ล้านราย ขณะที่ Line TV เพียงแค่ไตรมาสแรกของปีนี้ เติบโตแล้วกว่า 50%  โดยการเติบโตที่เห็น อยู่ภายใต้การดูแลของ “กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์” ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ บริษัท ไลน์ ประเทศไทยฯ

“หน้าที่ของผม ไม่ใช่มาแค่ไดรฟ์บิสิเนส แต่ผมมาซัพพอร์ตบิสิเนสมากกว่า” นั่นคือสิ่งที่ “กวิน” บอก

ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ของไลน์คนนี้ ทำงานอยู่กับไลน์มากกว่า 3 ปี โดยเริ่มต้นจากการดูบริหารกลยุทธ์และบริการใหม่ๆ ของไลน์ และได้ย้ายเข้ามาบริหารคอนเทนต์เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาบอกว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร โดยก่อนหน้านั้น งานของเขาคือการวางแผน และบริหารธุรกิจใหม่ ซึ่งดูในภาพรวมแล้ววางแผนให้แต่ละเซอร์วิสเติบโต แต่ตอนนี้คือ ต้องโฟกัสและลงไปทำ (execution) สร้างแผนเสร็จ จะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นจริงๆ และส่วนสำคัญ “คอนเทนต์” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ที่เขาต้องเรียนรู้เยอะมาก

S__9412624

“สิ่งที่ท้าทาย มันคือ โอกาสบนคอนเทนต์บิสิเนส คนส่วนใหญ่ที่ทำงานตรงนี้ มีครีเอทีฟเยอะ ส่วนผม มาจากการวางแผน และตัวเลขมากกว่า เราจึงต้องมาช่วยกันตบความคิด 1 2 3 4 ทำให้มาเป็นแผนที่ชัดเจน และคิดเป็นเงินลงทุนที่ชัดเจน สุดท้ายคือวัดผลให้ชัดว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม และตรงกับแผนการของเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ตรง เราต้องปรับอย่างไร”

การเติบโตที่ได้เห็นในไลน์ทีวี และไลน์ทูเดย์ เกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน อย่างแรก คือ วิชันที่ทีมเซตขึ้นมา และอีกส่วนคือ ผู้บริหารซัพพอร์ต มีการลงทุนที่เหมาะสม ทำให้เราเติบโตได้ และสุดท้ายคือ ตลาด ที่น่าจับตามองไม่ว่าจะวิดีโอ หรือคอนเทนต์ ซึ่งไลน์เข้ามาอยู่ในจุดของความต้องการในตลาดตรงนั้นพอดี และอีกหนึ่งสำคัญคือ แพลตฟอร์มของไลน์ ที่ซัพพอร์ตทุกอย่างให้กับไลน์ทีวี และไลน์ทูเดย์ ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตได้แบบก้าวกระโดด

เป้าหมายต่อไป คือ การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปตอบโจทย์เฉพาะบุคคล (personalization) ให้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ทั้งไลน์ทีวีและไลน์ทูเดย์กำลังเดินหน้าต่อ ที่ผ่านมา ไลน์ทีวี เพิ่งสร้างแนวคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่าง “LGBT” ซึ่งเป็นแนวคอนเทนต์ที่สนองตอบความหลากหลายของเพศวิถี (Sexuality) การที่เลือกคอนเทนต์แนวนี้เข้ามา “กวิน” บอกว่า ไลน์ต้องการสร้างแนวทางใหม่ๆ ดึงกลุ่มคนที่เป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เข้ามา และคอนเทนต์ที่นำเสนอ ก็ต้องเป็นคอนเทนต์คุณภาพ ที่จะทำให้ทั้งตัวคอนเทนต์เอง และการทำตลาด เดินหน้าไปอย่างสัมฤทธิผล

แน่นอน การเป็นผู้นำตลาด และการเติบโตที่รวดเร็ว ย่อมมีความเสี่ยง และมีความผิดพลาดบ้าง แต่แนวทางธุรกิจแบบสตาร์ตอัพหรือธุรกิจยุคใหม่ คือ การทำล้มแล้วลุกให้เร็ว (Fail Fast, Move Fast)เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อพลาดต้องรีบปรับ แล้วเดินหน้าต่อ โดยแนวทางคือ ถ้ามีคอนเทนต์ที่ดี ไลน์ก็พร้อมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเป็นพาร์ตเนอร์ หรือการร่วมผลิต ทั้งในส่วนของไลน์ทีวีและไลน์ทูเดย์

เป้าหมายของไลน์ทูเดย์ คือการพยายามทำให้คนสนใจอ่านข่าวให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยไลน์ทำเซอร์เวย์ก่อนเปิดไลน์ทูเดย์ พบว่า มีคนอยู่ 20-30% ที่ไม่สนใจอ่านข่าวเลย ไม่ว่าจะช่องทางไหน การที่จะขยับยูสเซอร์จาก 33 ล้านคนที่ตอนนี้เข้ามาดูใช้บริการไลน์ทูเดย์แล้ว จะขยับอย่างไรให้ไปถึง 40 ล้านคนได้ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ยาก แต่สิ่งที่ไลน์ทูเดย์และไลน์ทีวีจะทำต่อไป คือ การ Personalization ให้มากขึ้น โดยดูว่าแต่ละกลุ่มมีความสนใจคอนเทนต์อะไร แล้วเข้าไปสนองตอบความต้องการตรงนั้น

ผู้นำคนนี้ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ และวางแผนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขาเชื่อมั่นว่าวิชันของไลน์ และทีมงานที่ทำอยู่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้ทุกอย่างออกมาเป็นแผนงานที่ชัดเจน ทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน...“ผมไม่ได้เป็นคนสร้างไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ผมเป็นคนรวบรวมไอเดีย แล้วเอามาทำให้เห็นแผนชัดเจน ก่อนที่จะนำเสนอเป็นแผนออกมา หน้าที่ของผม ไม่ใช่มาไดรฟ์บิสิเนส แต่ผมมาซัพพอร์ตบิสิเนสมากกว่า” หลักการของ “กวิน” คือการพูดคุย แล้วบาลานซ์ความคิด กับสิ่งที่เหมาะสมและเป็นไปได้

ในวันนี้ ไลน์ทีวี และ ไลน์ทูเดย์ ถือเป็น Successful Start Up ที่บาลานซ์การเติบโตแบบยูนิคอร์น กับการเป็นนสตาร์ตอัพที่เติบโตขึ้นในวิธีที่ยั่งยืน โดยผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการคือ ความยั่งยืนของธุรกิจ ส่วนอนาคต จะแตกออกไปเป็นยืนด้วยขาตัวเอง หรือจะเป็นการคงอยู่ของธุรกิจในรูปแบบไหน ก็ต้องรอดูกันต่อไป

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3390 ระหว่างวันที่ 9 - 11 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7