กองทุนผสมมาแรง ดันบลจ.ทิสโก้โตเกินคาด

10 ส.ค. 2561 | 05:12 น.
หลังประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2561 ของบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พบว่า ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน ภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวม 245,031.94 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มาจากการขยายตัวของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่ 351.63 ล้านบาท ขยายตัว 15.7% และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 8 คิดเป็น 3.5%ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

“ธีรนาถ รุจิเมธาภาส” กรรมการอำนวยการบลจ.ทิสโก้ จก. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลประกอบการครึ่งปีทำได้ดีเกินคาด โดยภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขยายโตตามคาดการณ์ มีเงินไหลเข้ามาเรื่อยๆ ขณะที่กองทุนรวมขยายตัวมาก โดยเฉพาะกองทุนผสมที่เป็น Multi Asset Class เติบโตขึ้นมากเพราะเข้ามาตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนและดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ดังนั้นบริษัทอาจจะปรับประมาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 10% ในปีนี้

[caption id="attachment_303944" align="aligncenter" width="387"] ธีรนาถ รุจิเมธาภาส ธีรนาถ รุจิเมธาภาส[/caption]

“ครึ่งปี ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะมีเงินไหลเข้ากองทุนผสมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดหุ้นที่ตกมาก ทำให้คนหันมาลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น ขณะเดียวกันเราไม่ได้ทำกองตราสารหนี้เป็นหลัก ดังนั้น เมื่อคนเริ่มหนีจากตราสารหนี้มากองหุ้นและกองผสม เราจะได้ประโยชน์ เพราะมีกองพวกนี้เยอะ และถือว่าสภาวะตลาดเป็นใจด้วย”

ทั้งนี้ คนที่เคยหนีจากตราสารหนี้ไทย เพราะได้ดอกเบี้ยตํ่าและหันไปลงทุนต่างประเทศ ก็โดนผลกระทบและกลับมา ขณะที่กองทุนที่กำหนดอายุโครงการ(Term Fund)ที่เคยได้รับความนิยม แต่ขณะนี้ผลตอบแทนที่ได้ไม่ดีไปกว่าเงินฝากมากนัก ต้องล็อกยาว 1 ปีขึ้นไป และยังมีความไม่แน่นอนเรื่องภาษีด้วย ทำให้หลายบลจ.ที่เคยออกจึงชะลอไป ทำให้กองทุนผสมเป็นที่นิยมและแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เพราะสามารถลงทุนได้ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

“คนตื่นตัวมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตํ่า ขณะที่ผลตอบแทนจากลงทุนในตราสารหนี้ก็ตํ่า คนจึงให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตลงทุนมากขึ้น เพราะลงทุนในหุ้นอย่างเดียวก็เสี่ยงเกินไป จึงต้องหาทางที่เหมาะสม อาจจะผสมระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ แต่ก็อยากให้ผู้ลงทุนศึกษาให้ดีด้วยตัวเอง เพราะกองทุนผสม มีการลงทุนที่หลากหลาย ความเสี่ยงก็จะไม่เท่ากัน แม้ว่าชื่อจะคล้ายกันก็ตาม” MP19-3390-A

ขณะเดียวกัน คนก็รู้แล้วว่า เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เงินออมจะโตไม่ทันกับค่าใช้จ่ายในอนาคต โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในกองทุนผสมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่บลจ.ทิสโก้ฯมีกองทุนผสมที่ลงทุนในประเทศคือ Tisco Income Plus ช่วงตั้งมูลค่าไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่ขณะนี้มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ผลตอบแทนที่ผ่านมาประมาณ 10% ไม่แพ้กองหุ้น แม้ความเสี่ยงจะไม่สูงเท่าหุ้น และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ คือ Global Income plus ขณะนี้ก็มีมูลค่ากองทุนกว่า 1 พันล้านบาท

ทั้งนี้เพราะลูกค้ายังรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นได้ไม่เต็มที่นัก แม้จะรู้ว่าหุ้นตกไม่เกี่ยวกับบ้านเรา เป็นเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯกับจีน แม้ผลกระทบต่อบ้านเราจะไม่มากขนาดนั้น แต่จะให้ไปซื้อกองหุ้นเลย หลายคนก็ไม่กล้า ครั้นจะไปซื้อกองตราสารหนี้ ก็เป็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ไปลงทุนในตราสารหนี้ขณะนี้ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้ ดังนั้นทางสายกลางคือ การลงทุนในกองผสม

สำหรับแนวโน้มที่เหลือของปีนี้ก็คาดว่า กองทุนผสมจะยังได้รับความนิยมเพราะคนทั่วไปยังรับความเสี่ยงได้ไม่มากนักท่ามกลางความไม่ชัดเจนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยตํ่า จะมีกองทุนต่างประเทศไปลงทุนในตราสารหนี้อายุประมาณ 4-5 ปีมาก และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4-5% หรือบางปีอาจจะถึง 7% แต่ขณะนี้ผลตอบแทนเริ่มติดลบ ทำให้มีเงินไหลออกจากตราสารหนี้จำนวนมาก เพราะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้นักลงทุนระมัดระวัง ไม่กล้าลงทุนตราสารหนี้ระยะยาว

“ขณะที่เรามีตราสารหนี้ระยะสั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะกองทุนที่มีตราสารหนี้ยาวๆ เราไม่ได้ออกเลย เพราะมองว่า ช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยตํ่าเกินไป ไม่คุ้มค่าที่จะไปลงทุน ดังนั้นกองผสมอาจจะดีกว่า แม้ว่า จะมีความผันผวนจากหุ้นบ้าง แต่เมื่อผสมกับสินทรัพย์ที่ลงทุนหลายๆประเภทก็ถัวความเสี่ยงไปได้”

สัมภาษณ์ :โต๊ะข่าวกองทุน

 

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 ส.ค. 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว