สรท. เชียร์ไทยร่วมวง CPTPP

09 ส.ค. 2561 | 10:44 น.
090861-1743

"สภาผู้ส่งออก-กลุ่มการ์เมนต์" ส่งเสียงเชียร์รัฐร่วมวง CPTPP ช่วยเพิ่มขีดแข่งขัน ชี้! ไทยได้มากกว่าเสีย ลดผลกระทบสงครามการค้า คาดเจรจาง่ายขึ้น หลังสหรัฐฯ ถอนตัว ... พาณิชย์ ระบุ ยังมีเวลาศึกษาผลดี-ผลเสียรอบด้าน มั่นใจ! รอบคอบก่อนเข้า

จากที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP เดิม ที่สหรัฐฯ ประเทศผู้นำหลักได้ถอนตัวออกไปแล้ว ซึ่งในบางข้อบทของการเจรจา เช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ได้นำมาซึ่งความกังวลของหลายภาคส่วน เพราะไทยไม่เคยมีการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ใด ๆ มาก่อน ขณะที่ ไทยหวังจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนและอื่น ๆ จากความตกลงนี้


TP8-3390-B




น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ทาง สรท. เห็นด้วยในหลักการและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าและบริการ และดึงการลงทุนของไทย หากไม่เข้าร่วมจะเสียเปรียบเรื่องสิทธิประโยชน์และความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิกจะให้แก่กันแน่นอน

"ก่อนหน้าที่สหรัฐฯ ยังอยู่ใน TPP ไทยมีความกังวลเรื่องสิทธิบัตรยาและอุตสาหกรรมยา ที่เราต้องเปิดตลาดที่สหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัว และประเทศที่เหลือตั้งกลุ่มใหม่ ในชื่อ CPTPP ความเข้มงวดในเรื่องนี้ก็ลดลงและผ่อนปรนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเข้าร่วม ส่วนข้อกังวลเรื่องจัดซื้อจัดจ้างไทย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องหารือกันถึงท่าทีในการเจรจา เพราะยังมีระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านและการเตรียมพร้อม หากไทยไม่เข้าร่วมจะเสียมากกว่าได้แน่นอน"


8-cptpp


ด้าน นายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการที่ปรึกษา สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า CPTPP เป็นความตกลงอีกหนึ่งกลุ่มใหญ่ที่ไทยจะได้ประโยชน์และต้องเร่งหาทางเข้าร่วม เพื่อให้ไทยคงความสามารถในการแข่งขันให้อยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซียและเวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งขันและเป็นสมาชิกของ CPTPP ขณะที่ การเข้าร่วมกลุ่มโดยที่ไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมในเวลานี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะเงื่อนไขความเข้มงวดเรื่องสิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญาจะลดความเข้มข้นลง ไทยจะเข้าร่วมได้ง่ายขึ้นหากไม่มีสหรัฐฯ ซึ่งการเข้าร่วมถือเป็นความจำเป็น เพราะเวลานี้ สงครามการค้าที่เปิดฉากโดยสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก การรวมกลุ่มกันและค้าขายระหว่างกันมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบได้ โดยสินค้าเครื่องนุ่งห่มและอีกหลายกลุ่มสินค้าก็จะได้รับประโยชน์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลง CPTPP คาดจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 ระหว่างนี้ไทยจึงมีเวลาที่จะศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน โดยกรมฯ พร้อมเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และจะนำผลการรับฟังความเห็น ตลอดจนผลการวิเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผลการศึกษาที่กรมฯ ให้สถาบันวิจัยที่เป็นหน่วยงานภายนอกช่วยดำเนินการ มารวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อไป


……………….
เซกชัน : การค้า-ลงทุน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 ส.ค. 2561 หน้า 08

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บทบรรณาธิการ : ค่าผ่านประตู CPTPP
‘พาณิชย์’ เจรจา CPTPP โปร่งใส เดินสายรับฟังความเห็นทั่วประเทศ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว