ปภ. เปิด 50 จังหวัด "เสี่ยงน้ำท่วมขัง" รับมือถึง 9 ส.ค. นี้

07 ส.ค. 2561 | 01:34 น.
นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วันที่ 6 ส.ค. 61 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการกลาง ได้ทำหนังสือสั่งการด่วนที่สุด รับมือร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคมีฝนเพิ่มขึ้นและอาจมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ปริมาณฝนสะสมที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม รวมคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งอาจได้รับผลกระทบจากคลื่นลมแรง


D_งาน ศภช (เหมียว)_โทรสาร_6 สค 61_w07081800 D_งาน ศภช (เหมียว)_โทรสาร_6 สค 61_x07081800

สำหรับแผนที่เฝ้าระวังอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง จำนวน 50 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และ ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "เซินติญ" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. – 6 ส.ค. 61 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในพื้นที่ 27 จังหวัด (กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง เพชรบุรี ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ พะเยา เชียงราย กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด ยโสธร) มีได้รับผลกระทบ 85 อำเภอ 303 ตำบล 1,941 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,701 ครัวเรือน 99,629 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย (จ.สกลนคร) สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 18 จังหวัด (กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง เพชรบุรี ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงราย)

ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด (นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ยโสธร หนองคาย) 54 อำเภอ 241 ตำบล 1,757 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 54,044 ครัวเรือน 89,241 คน

ทั้งนี้ จังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว 13 จังหวัด 25 อำเภอ 77 ตำบล 493 หมู่บ้าน ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ ตาก น่าน บึงกาฬ พะเยา เพชรบุรี แพร่ ยโสธร สกลนคร อำนาจเจริญและอุตรดิตถ์

แผนที่โทรสาร3