บทเรียน ‘ปิ่น’ ถึง ‘ยิ่งลักษณ์’ งานหิน!ขออังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดน

06 ส.ค. 2561 | 12:38 น.
 

565968595 นอกจากถูกออกหมายจับฐานเป็นนักโทษหนีคดีแล้ว ล่าสุดรัฐบาลไทยยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษ เพื่อขอให้ส่งตัว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว

โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่งหนังสือลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ถึงกระทรวงการต่างประเทศ สหราชอาณาจักร อ้างถึงสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรและสยาม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ว่าด้วยการส่งตัวผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ เพื่อร้องขอให้ส่งตัว นางสาวยิ่งลักษณ์ ที่เป็นบุคคลมีสัญชาติไทย และเชื่อว่าพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักร กลับไปรับโทษในไทย

เนื้อหาจดหมายระบุ หากรัฐบาลอังกฤษเห็นว่าความผิด ที่กล่าวถึงข้างต้นไม่อยู่ในบัญชีการทำความผิดของบุคคลอันเป็นการให้ส่งตัวให้ประเทศต้นทางดำเนินคดีได้ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 2 วรรค 1 ของสนธิสัญญาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงร้องขอมาด้วยความเคารพให้รัฐบาลอังกฤษได้พิจารณาความผิดข้ออื่นๆ ที่ระบุไว้ ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 2 ที่ระบุว่า

“การส่งตัวกลับอาจทำได้ภายใต้ความเห็นชอบของประเทศนั้น หากการกระทำความผิดทางอาญานั้น เป็นความผิดภายใต้กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศคู่สัญญา”
+6+69952566566596
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง พิพากษาโทษจำคุก นางสาวยิ่งลักษณ์ 5 ปี ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 123 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว แต่หลบหนี ซึ่งศาลฎีกาฯออกหมายจับตั้งแต่มีคำตัดสินเมื่อ 27 กันยายน 2560

เป็นจังหวะที่ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาเคลื่อนไหวเขย่าการเมืองไทยต่อเนื่องอีกครั้ง ทั้งการจัดงานวันเกิดยิ่งลักษณ์ ในอังกฤษเมื่อ เดือนมิถุนายน ช่วงเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศส เปิดตัวไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย จนมาร้อนสุดขีดงานวันเกิดทักษิณปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ทักษิณวิจารณ์คสช.-รัฐบาลทหารตรงๆ อีกครั้ง

ที่ผ่านมายังอึมครึมว่ายิ่งลักษณ์ ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากอังกฤษแล้วหรือไม่ โดยทางการอังกฤษปฏิเสธที่จะยืนยันกรณีนี้ การที่ทางการไทยมีหนังสือขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนซํ้าไปอีกนั้น ยิ่งเป็นแรงกดดันอังกฤษเพิ่มขึ้น ขณะที่อังกฤษและอียูปรับท่าทีหันมาฟื้นสัมพันธ์กับไทยทันทีในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่การเลือกตั้ง

หากหวังผลจะได้ตัวยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศนั้น ฟันธง ว่า “ยาก” เพราะมีเงื่อนไขและ กระบวนการพิจารณาอีกยืดยาว

โดยการจะขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี เช่น สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนแก่ประเทศผู้ร้องขอต้องมีสนธิสัญญาระหว่างกัน กรณีไทย-สหราชอาณาจักร มีมาตั้งแต่ปี 2454 หากเป็นประเทศใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร ต้องมีกฎหมายภายในกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ เช่นเดียวกับกรณีของไทย หากกฎหมายภายในไม่ได้กำหนดไว้ จะใช้หลักพันธไมตรีระหว่างประเทศ หลักต่างตอบแทน หรือหลักความยุติธรรมมาพิจารณา

รวมทั้งการจะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมารับโทษในความผิดอาญานั้น ต้องเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งในประเทศผู้ขอและประเทศที่รับคำขอ โดยต้องแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอแล้ว
75366FC1ADCB4DFF8340C32E1178442A แต่หากเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนา ชาติพันธุ์ หรือความผิดทางการเมือง ความผิดเกี่ยวข้องกับการ เมือง หรือความผิดทางอาญาที่เชื่อมโยงกับความผิดทางการเมือง จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงไม่แปลกที่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ จะตอกยํ้าครั้งแล้วครั้งเล่าว่าคดีของตนโดนกลั่นแกล้งทางการเมือง

แต่ทั้งนี้เป็นอำนาจเด็ดขาดของประเทศผู้รับคำร้องที่จะพิจารณา โดยการวินิจฉัยอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่รัฐเหล่านั้นนำมาใช้ในการวินิจฉัย การขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากต่างประเทศนั้นจึงมิใช่จะดำเนินการได้โดยง่าย

โดยกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างอังกฤษและไทย กำหนดไว้อย่างชัดเจนตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไทยและอังกฤษ ปี 2454 ระบุให้ศาลเป็นผู้พิจารณาคำร้องว่าจะส่งตัวให้ผู้ขอหรือไม่ สนธิสัญญาระบุข้อหาที่ถือว่าเป็นความผิดที่จะนำตัวกลับไปดำเนินคดี ศาลต้องพิจารณาข้อหาและหลักฐานที่รัฐบาลผู้ขอยื่นไป ว่ามีนํ้าหนักเพียงพอก่อนตัดสินใจให้ส่งตัวได้ และข้อหาต้องตรงตามข้อกำหนดในเรื่องฐานความผิดที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ที่สำคัญทั้งข้อหาและการใช้หลักฐานต้องสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศผู้จะส่งตัวด้วย

ในรอบ 107 ปีของสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสยาม ที่ลงนามในปี 2454 นั้น มีกรณีเดียวที่อังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ไทย คือ คดีนายลี อารอน อัลเฮาส์ ชาวอังกฤษ ที่ก่อเหตุฆาตกรรม นายลองเฟลเลอร์ แดโชวล์ชาวอเมริกัน หลังมีเหตุทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน นายอารอนสู้ไม่ได้ จึงนำมีดปลายแหลมแทงนายแดโชวล์ตาย แล้วหลบหนีกลับบ้าน ทางการอังกฤษจับตัวส่งให้ไทยดำเนินคดีตามที่อัยการไทยร้องขอเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2555

6+69895858

ส่วนกรณีนายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอกธนกิจ จำกัด กับพวก ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวหากระทำหน้าที่โดยทุจริต เอาไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัท แสวงประโยชน์มิควรได้ และยักยอกทรัพย์ รวม 45 คดี บริษัทเสียหาย 1,766 ล้านบาท จุดชนวนวิกฤติต้มยำกุ้ง ปิ่นหลบหนีคดีไปอยู่อังกฤษ ไทยขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ปิ่นถูกจับที่ลอนดอนปี 2542 ถูกดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ศาลชั้นต้นอังกฤษพิพากษาให้ส่งตัวกลับ ปิ่นยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลวินิจฉัยในประเด็นสำคัญว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้หรือสนับสนุนข้อพิสูจน์ได้ว่า นายปิ่นกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตตามข้อกล่าวหา และยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยลงโทษนายปิ่นได้ ประการสำคัญพฤติการณ์ของนายปิ่น ตามที่กล่าวหา ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ พิพากษากลับยกฟ้องคดีทุกข้อหา ปล่อยตัว ปิ่น ให้พำนักในอังกฤษต่อจนคดีหมดอายุความ จึงกลับเมืองไทย

ยิ่งลักษณ์ จะใช้ประเด็น “คดีการเมือง” เป็นข้อต่อสู้หลักแน่ หากถูกดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนในอังกฤษตามที่ไทยร้องขอ โดยยกเหตุถูกทหารยึดอำนาจในปี 2557 จนต่อมาถูกดำเนินคดีในช่วงของรัฐบาลทหารยกขึ้้นอ้างได้ว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการเมือง ที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในกรณีนี้ได้อีกด้วย แม้ทางการไทยจะอ้างว่าเป็นกฎหมายและกระบวน การปกติก็ตาม

นอกจากนี้การที่ไทยแก้กฎหมายให้ไม่นับอายุความ และให้พิจารณาคดีลับหลัง หากหลบหนีนั้น ยังกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ยิ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อังกฤษต้องพิจารณาด้วยอย่างหนักแน่นอน

การยื่นหนังสือส่งผู้ร้ายข้ามแดนหากหวังให้ได้ตัวยิ่งลักษณ์มาดำเนินคดีนั้นเป็นอันหมดหวัง หรือเป็นไปไม่ได้แน่ในยุครัฐบาล คสช.

แต่อย่างน้อยทันทีที่หนังสือถึงทางการอังกฤษ ส่งสัญญาณปรามกันในที ว่ากำลังให้พื้นที่2 อดีตนายกฯ นักโทษหนีคดีของไทย เคลื่อนไหวทางการเมืองในลอนดอน ทำเอา “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ต้องรีบเหินฟ้าจากลอนดอนกลับไปปักหลักที่ดูไบทันที
85895448 เงื่อนไขการขอรับ-ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ก.หลักทางกฎหมาย
• ต้องมีสนธิสัญญาระหว่างกันสำหรับประเทศใช้กฎหมายจารีต (Common Law)
• ต้องมีกฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์สำหรับประเทศใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law)

ข.หลักอื่น

• พันธไมตรีระหว่างประเทศ
• หลักต่างตอบแทน
• หลักความยุติธรรม
• เงื่อนไข ต้องเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะเป็นความผิดของทั้งประเทศผู้ร้องขอและประเทศที่จะส่ง
• ข้อยกเว้น จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากเป็นความผิดเกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือความผิดทางการเมือง เกี่ยวเนื่องกับการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมือง
• อำนาจวินิจฉัย เป็นอำนาจเด็ดขาดของรัฐผู้รับ คำร้องขอฝ่ายเดียว

คนดังไทยหนีภัยซุก‘ลอนดอน’

1. นายเอกยุทธ อัญชันบุตร หนีคดีฉ้อโกงแชร์ชาร์เตอร์ พักในลอนดอน 20 ปี หมดอายุความกลับไทยก่อนถูกอุ้มฆ่าเมื่อปี 2556

2. นายปิ่น จักกะพาก หนีคดีฉ้อโกงบงล.เอกธนกิจฯ 1.76 พันล้านบาท สู้คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนศาลสูงอังกฤษยกฟ้อง อยู่ลอนดอนจนหมดอายุความก่อนกลับไทย

3. นายทักษิณ ชินวัตร หลังถูกทหารยึดอำนาจปี 2549 ช่วงแรกมีข่าวขอลี้ภัยอังกฤษ ต่อมาขายหุ้นทีมแมนฯซิตี้ เพราะมีคดีทุจริต จนมาปักหลักที่ดูไบ

4. นายวรยุทธ อยู่วิทยา “บอส” คดีขับรถชนจราจรตาย ก่อนหลบหนีคดี มีข่าวพำนักในอังกฤษต่อมาหายตัวไป

|รายงาน : บทเรียน ‘ปิ่น’ ถึง ‘ยิ่งลักษณ์’ งานหิน!ขออังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดน
| โดย : โต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3389 ระหว่างวันที่ 5-8 ส.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว