ส่องภารกิจ ‘กกต.ป้ายแดง’ พิสูจน์ความเป็นกลางเลือกตั้ง

06 ส.ค. 2561 | 10:17 น.
 

561000005842501

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่  ประกอบด้วยนายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายปกรณ์ มหรรณพ มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้ นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน กกต. ซึ่งล่าสุด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นำรายชื่อ กกต.ทั้ง 5 คน ขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อนจะมีผลอย่างเป็นทางการ

แม้มีเสียงท้วงจากหลายฝ่ายว่ายังขาด กกต.อีก 2 คน อาจทำให้ไม่ครบ 7 คนตามที่กฎหมายกำหนดอาจขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่มีการยืนยันจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

ขณะเดียวกันทางสำนักงานเลขาธิการสนช. จะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อนัดประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ในสัปดาห์หน้า เพื่อสรรหา กกต.อีก 2 คน

“ศุภชัย”พร้อมส่งไม้ต่อ

ช่วงรอยต่อระหว่างกกต.ใหม่จะเข้ามารับหน้าที่อย่างเป็นทางการ ทางกกต.ชุด “ศุภชัย สมเจริญ” พร้อมส่งไม้ต่อให้ กกต.ชุดใหม่ได้ทันทีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รายชื่อ กกต.ใหม่ลงมา โดยภารกิจที่ดำเนินการไว้รอแล้วคือ การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด จำนวน 616 คน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้ยกเลิก กกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.แทน ท่ามกลางความสงสัยจากสังคมว่าเหตุใด กกต.ชุดเดิมไม่รอให้เป็นภารกิจของ กกต.ชุดใหม่

ต่อมามีการชี้แจงจาก นายศุภชัย ว่า เกรง กกต.ชุดใหม่จะดำเนินการคัดเลือกผู้ตรวจ การเลือกตั้งไม่ทันเวลา เพราะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกหลายขั้นตอน เช่น หากพบว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม

เช่น ไม่เป็นกลางทางการเมือง ฝักใฝ่การเมือง มีคดี ต้องโทษที่อาจไม่เหมาะสมกับการที่จะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง กกต.ชุดใหม่สามารถคัดเลือกคนใหม่ได้ แต่หากไม่มีผู้คัดค้าน กกต.ก็ต้องมีการอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องข้อกฎหมาย และการปฏิบัติต่างๆ เป็นการปฏิบัติตามกรอบเวลาที่วางไว้เดิม
1533549694226 คุมเลือกตั้งท้องถิ่น

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบภารกิจ “กกต.ป้ายแดง” มีอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการหลังเข้ารับตำแหน่ง พบว่า เรื่องแรก การเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ว่า กกต.ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง แต่ในฐานะผู้ควบคุมถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจกกต.ใหม่พอสมควร เพราะจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่น พบว่ามีการร้องเรียนเยอะมาก ต้องมีการสืบสวนและไต่สวนนานพอสมควร กกต.ชุดเดิมจึงกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนเลือกตั้งส.ส.ห่างกัน 3เดือน ทำให้กกต.ใหม่ถูกจับตามองถึงการทำหน้าที่โดยอิสระไม่แพ้การเลือกตั้งทั่วไป เพราะเป็นสมรภูมิหนึ่งที่พรรคการเมือง ต้องวัดกำลังอย่างหนัก

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งร่างแก้ไข กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับมาให้ สนช.พิจารณา และเมื่อผ่านความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า กกต.ชุดใหม่ต้องเตรียมพร้อมในการควบคุมการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ กว่า 8,000 แห่ง

ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเลือกตั้งก่อน 3 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 77 จังหวัด ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล จะต้องมีกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน

สรรหาส.ว.-เลือกตั้งส.ส.

ภารกิจ กกต.ใหม่เรื่องที่ 2 คือ หลังร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มีผลบังคับใช้ กกต.มีภารกิจ เตรียมจัดการสรรหา ส.ว. โดยการสรรหาส.ว. จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเกี่ยวข้องกับ กกต. เพราะจะจัดให้ผู้สมัครส.ว.เลือกกันเอง โดยจะมีกระบวนการคัดเลือกในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ ให้ได้ 200 คน เพื่อส่งบัญชีไปให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 คน

ในขั้นตอนการสรรหาส.ว. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท จากที่เคยใช้ 2,000  ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิม 800 ล้านบาท เนื่องจากกระบวนการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยงบประมาณได้กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2562 แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา ของสนช.

ส่วนส.ว.อีก 200 คน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทำบัญชีรายชื่อว่าที่ส.ว.ไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช.เลือกให้เหลือ 194 คน ส่วนอีก 6 คนมาจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการสำนักงานตํารวจแห่งชาติ.

เรื่องที่ 3 เป็นงานใหญ่ที่ต้องพิสูจน์ฝีมือและความเป็นอิสระของ กกต.ก็คือ จัดเลือก ตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว. ประกาศใช้ ซึ่งการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปในปี 2562 มีความต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเพราะกกต.ต้องจัดให้มีการรับสมัครและจับสลากที่จังหวัดทุกจังหวัด จากเดิมจับสลากที่ส่วนกลางและใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ

ในการจัดการเลือกตั้ง กกต.จะเป็นผู้กำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงให้แก่ผู้สมัคร การจัดสรรเวลาการออกอากาศ รวมทั้งต้องจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ และกำหนดหน่วยเลือกตั้งใหม่เพราะส.ส.ลดลงจาก 375 คน เหลือ 350 คน

นอกจากนั้นการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น กกต.ต้องบริหารงบประมาณให้ได้ตามที่ขอไว้ ซึ่งจากการประเมินคาดว่าจะใช้งบประมาณจัดเลือกตั้งส.ส. ที่ 5,800 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 3,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท เนื่องจาก กกต.มีภารกิจใหม่เพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญใหม่ 4 ด้าน คือ การหาเสียงให้พรรคการเมือง และนำนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ เผยแพร่ 2. ค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 3. ค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยาน และ 4. จ่ายเงินสินบนให้ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้ง

ทั้งหมดถือเป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถและความเป็นกลางของ กกต.ชุด “อิทธิพร บุญประคอง”

|เซกชั่นการเมือง :หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3389 ระหว่างวันที่ 5-8 ส.ค.2561
e-book-1-503x62