‘วิทย์สร้างคน’ ลุยต่อ‘จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค’

13 ส.ค. 2561 | 09:56 น.
มหกรรมวิทย์ฯ 61 สร้างความร่วมมือ‘จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค’

เพื่อเป็นการเตรียมคนไทยเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 และสร้างขีดความสามารถสู่การแข่งขันในเวทีสากล ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสานความร่วมมือภาคีเครือจัด “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ประจำปี 2561 ขึ้นโดยในปีนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 11 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนคนไทยตื่นตัวที่จะเรียนรู้และเข้าถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยความเท่าทัน ตลอดจนนำไปปรับใช้ทั้งการดำรงชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์รวมทั้งขยายผลทางเศรษฐกิจ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน เผยว่า เพื่อเป็นการกระจายโอกาสในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจึงได้ต่อยอดการจัดสู่ระดับภูมิภาค รวม 4 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และครั้งล่าสุดอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น และครั้งต่อไปที่ภาคกลางในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยการจัดงานระดับภูมิภาคทั้งภาคเหนือและภาคใต้ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี ผู้เข้าชมโดยเฉพาะเยาวชนอย่างคึกคักเกิดการแลกเปลี่ยนในเชิงสร้างสรรค์ มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และการปฏิวัติตนเอง
กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

DSCF8573

ดร.สุวิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2561 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” โดยมุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้างานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เทรนด์ที่กำลังจะมาถึงอย่างสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการประยุกต์ใช้ปรัชญา แนวความคิด และนโยบายที่สำคัญต่อการพัฒนา เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา และนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อสานต่อนโยบาย วิทย์สร้างคนให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำอย่างไรให้คนไทย คิดอ่านอย่างมีระบบด้วยการใช้กระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุผล

การจัดมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาคที่จังหวัดขอนแก่นครั้งนี้ ทางองค์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น นิทรรศการเทิดพระเกียรติ (THE ROYAL PAVILLION) โดยนำเสนอเรื่องราวหลักการทรงงานของพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยและพระบิดา แห่งนวัตกรรมไทยเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทย โดยทรงใช้วิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ตกผลึกเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย พร้อมกันนี้ยังมีนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

090861-1927

พร้อมกันนี้ยังมี นิทรรศการนาทีนี้ต้องดิจิตอล นำเสนอวิวัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิตอลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว ที่นำเสนอสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ สังคมไทยในปัจจุบันผ่านเครื่องไทม์แมชชีน โดยผู้เข้าชมงานสามารถสัมผัสกิจกรรมจำลองผู้สูงอายุในฐานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนชีวิตในอนาคตทั้งเรื่องสุขภาพ การเงิน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการพลิกขยะสู่ขุมทรัพย์ที่นำเอาสิ่งของที่เหลือใช้มาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และกิจกรรมร่วมสนุกต่างๆ อีกมากมายที่น้องๆ เยาวชนจะสนุกสนานและได้เรียนรู้ไปอย่างเพลิดเพลิน ตอบโจทย์การเรียนรู้นอกห้องเรียนและส่งเสริมความรู้ด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education) ได้อย่างครอบคลุม

unnamed

อย่างไรก็ดีภายในงานครั้งนี้ยังมีการสร้างความร่วมมือครั้งสำคัญโดยทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แห่งชาติ (อพวช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ให้แก่เยาวชน ประชาชนในภูมิภาค

ทางรศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส.กล่าวว่า เรามีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์แห่งใหม่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยได้จัดเตรียมพื้นที่ภายใน มทส.จ.นครราชสีมา ให้เป็นที่ตั้งโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นการกระจายโอกาสการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญสู่ภูมิภาค ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด

ด้านผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช.กล่าวว่า โครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่ใน จ.ปทุมธานี และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ จามจุรีสแควร์ สามย่าน เพียงแห่งเดียว ดังนั้น ต้องขยายพื้นที่การให้บริการ โดยเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา อพวช. ร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดตั้ง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ และครั้งนี้ ร่วมมือกับ มทส.จัดตั้งโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญแห่งใหม่ของเยาวชนและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2562

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาคที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการก้าวเดินเพื่อการพัฒนาที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับทุกคนด้วยความครอบคุลม ทั้งการเปิดมุมมองใหม่ผ่านนิทรรศการ การปฏิบัติจริงในกิจกรรมต่างๆ การสร้างความร่วมมือเพื่อวางฐานรากด้านการศึกษา โดยทั้งหมดถือเป็นการปลูกฝังทัศนคติ เตรียมความพร้อม กระจายโอกาส เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคตสอดรับกับนโยบาย วิทย์สร้างคน ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว