ข้าพระบาท ทาสประชาชน : คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

06 ส.ค. 2561 | 08:42 น.
 

495695 ขอพูดถึงเรื่อง “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” เพื่อความเข้าใจสำหรับผู้อ่านและประชาชนโดยทั่วไป ที่มิได้ศึกษาและติดตามเรื่องนี้ เพราะสำหรับท่านเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ว่า กรรมการคณะดังกล่าว มีบทบาทหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องและมีประโยชน์อันใดต่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจการค้า โดยเฉพาะกิจการใหญ่ๆ ที่มีลักษณะผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด คงทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงขอเล่าและคุยกับท่านผู้อ่านที่ยังไม่เข้าใจ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เล่าสู่กันฟัง เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเราท่านทั้งหลาย คงจะได้รู้จักบทบาทของคณะกรรมการคณะนี้ มากขึ้นแน่นอน

สังคมของมนุษยชาติมีกิจกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ แต่ระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกขณะนี้มีเพียง 2 ระบบคือ ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เท่านั้น ส่วนอนาคตก็เป็นเรื่องวันข้างหน้าของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้โลกส่วนใหญ่ที่มีขนาดทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมกับประเทศต่างๆ ที่ถือเป็นค่ายใหญ่ๆ ล้วนยึดถือแนวทางตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม ค่ายสังคมนิยมมีเพียงจีนและรัสเซียเป็นสำคัญ

ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม เน้นความเป็นอิสระด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการ การแข่งขันโดยเสรีโดยใช้กลไกราคาในตลาดเป็นตัวกำหนดว่า ใครจะผลิตสินค้าและบริการในจำนวนเท่าใด ขายในราคาเท่าใด ขณะเดียวกันระบบนี้เขาก็มีกลไกคอยควบคุมพฤติกรรมทางการค้า มิให้มีการผูกขาดหรือทำการค้าโดยไม่เป็นธรรม และส่งผลเสียหายต่อผู้บริโภคและผู้รับบริการ

การผูกขาดจึงเป็นปัญหาและจุดอ่อนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม เพราะหากปล่อยให้ผู้มีอำนาจการผลิตมากกว่าคนอื่นๆ เข้าควบคุมตลาดและกลไกราคาได้ ย่อมทำลายระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ทำให้มีผู้ผลิตรายเดียวหรือน้อยราย บิดเบือนตลาด ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหายได้ ประชาชนผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ การผูกขาดยังทำลายการแข่งขัน กีดกันผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก่อปัญหา เช่น การติดสินบน การคอร์รัปชัน เพื่อให้ได้อำนาจผูกขาดและรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจนั้นๆ ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการผูกขาด
competition ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศในโลกเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม จึงได้ตระหนักถึงผลเสียหายทางเศรษฐกิจจากการผูกขาดการค้า เพราะการผูกขาดเป็นบ่อเกิดแห่งความไร้ประสิทธิภาพ เป็นที่มาของการทุจริตคอร์รัปชันที่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เพราะกำไรจากการผูกขาดเป็นที่หมายปองของนักธุรกิจการเมือง และข้าราชการประจำซึ่งมีอำนาจในการให้สัมปทาน หรืออนุญาตให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปกป้องรักษาอำนาจผูกขาดในตลาดไว้ได้

ประเทศประชาคมเศรษฐกิจยุโรป จึงมีการควบคุมผู้ประกอบการในตลาดไม่ให้มีพฤติกรรมผูกขาด ทั้งในประเทศตนเองและระหว่างประเทศสมาชิก ภายใต้นโยบายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งกำกับดูแลโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และมีกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าและป้องกันการผูกขาดของสหภาพยุโรปคือ Anti-Competitive Arrangements มาบังคับใช้ร่วมกัน การบังคับใช้กฎหมายและกำหนดนโยบายการแข่งขันทางการค้าภายใต้อำนาจของคณะกรรมาธิการยุโรปดังกล่าว ยังมีองค์กรกำกับการแข่งขันของประเทศสมาชิก(National Competition Authority) ทำหน้าที่สอบสวนรวบรวมหลักฐาน ทำงานควบคู่ไปด้วย

ส่วนสหรัฐอเมริกาประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้นำโลกที่ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่มีการบัญญัติกฎหมายเรื่องการแข่งขันทางการค้าเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นบังคับใช้ โดยกฎหมายฉบับแรกชื่อ The Sherman Act  ประกาศใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) สาเหตุก็เพราะสหรัฐฯ มีประสบการณ์การแข่งขันและการผูกขาดทางการค้ามาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการผูกขาดทางการค้า โดยการบริหารและการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า

สหรัฐฯ จะมีหน่วยงานสำคัญของรัฐทำหน้าที่แบ่งเป็น 2 หน่วยงานคือ แผนกป้องกันการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางหรือคณะกรรมการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission) ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ที่กล่าวมา ผู้เขียนเพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าในยุโรปและอเมริกา เขามีกฎหมายและองค์กรต่างๆมาบังคับใช้ตามกฎหมาย ทั้งพัฒนามาสู่ความมีมาตรฐานสากลยาวนานมาแล้วหลายร้อยปี

ญี่ปุ่น ประเทศเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่มีขนาดทางเศรษฐกิจโตเป็นอันดับ 3 ของโลก ภายหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นก็ถูกบังคับให้เปิดเสรีทางการค้า และมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าและองค์กรกำกับการบังคับใช้กฎหมายลักษณะเช่นเดียวกันกับยุโรปและอเมริกา เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียด ที่มาและองค์ประกอบที่แตกต่างกัน โดยญี่ปุ่นมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 หรือ พ.ศ. 2490 และก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการการค้าโดยธรรม (The Japanese Fair Trade Commission : JFTC) ขึ้นในปีเดียวกัน เพื่อนำกฎหมายดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผล กรรมการนี้จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีหลักประกันความเป็นอิสระ และมีอำนาจกึ่งตุลาการ อยู่นอกการควบคุมของคณะรัฐมนตรี ไม่มีหน่วยงานรัฐรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะควบคุมแทรกแซงอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการการค้าโดยธรรมได้

สำหรับประเทศไทย มีความริเริ่มด้วยตนเองให้มีกฎหมายแข่งขันทางการค้าบังคับใช้ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นประเทศเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่มีมาตรฐานสากลเยี่ยงนานาประเทศ โดยเริ่มมาตั้งแต่พ.ศ.  2534 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีการผลักดันกฎหมายโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สภาพิจารณาหลายรอบหลายรัฐบาล แต่มาสำเร็จเมื่อพ.ศ. 2541 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นายกรัฐมนตรี จึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ทำให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเกิดขึ้นเป็นประเทศแรกในอาเซียน กฎหมายดังกล่าว ถือว่ามีบทบัญญัติที่ครบถ้วนในการป้องกันพฤติกรรมที่เป็นการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันที่เป็นมาตรฐานสากล
container-ship5 โดยก่อนหน้านั้นประเทศไทยมี พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากภาวะเงินเฟ้อ อันเกิดจากวิกฤติราคานํ้ามันโลกครั้งที่ 2 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายนี้มาระยะหนึ่ง ก็พบมีข้อบกพร่องหลายประการที่มิอาจบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิผล เพราะปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและข้อจำกัดโดยกลไกทางกฎหมาย เช่น กรรมการมีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการที่มีปัญหาถูกร้องเรียนว่าผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด หรือกฎหมายบัญญัติให้ฝ่ายการเมืองสามารถดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ และฝ่ายการเมืองก็มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีการรับความช่วยเหลือทางการเงินบริจาคเข้าพรรคการเมือง ทำให้มีการใช้อำนาจต่างตอบแทนกัน ด้วยเหตุดังกล่าว คสช.จึงมีนโยบายให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในจึงได้ทำการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และนักวิชาการเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า 2542 ในที่สุดรัฐบาล คสช.จึงได้เสนอสภานิติบัญญัติฯ ให้ยกเลิก เพราะไม่สอดคล้องและครอบคลุมรูปแบบ โครงสร้าง และพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยน แปลงไป ขาดเครื่องมือในการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่เป็นมาตรฐานสากลทั้งกรรมการยังถูกแทรกแซงการทำงาน ขาดความเป็นอิสระ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

คณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมติเห็นชอบให้ยกเลิก พ.ร.บ. พ.ศ. 2542 และให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา มีผลให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีความเป็นอิสระแยกออกมาจากกระทรวงพาณิชย์ นับว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญของกฎหมายและหน่วยงานเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าของไทย และถือเป็นผลงานเด่นเรื่องหนึ่งของคสช.

|คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
|โดย : ประพันธุ์ คูณมี
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ฉบับ 3388 ระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว