จับปฏิกิริยากร้าว‘บิ๊กตู่’ สะท้อนจุดเสี่ยงรัฐธรรมนูญ

10 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
ยังจำได้ไหม สัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับปากกับสังคมไทย ในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" หลังกล่าวคำสวัสดีปีใหม่ 2559 ว่าจะปฎิรูปตนเอง โดยการพูดน้อยลง หงุดหงิดน้อยลง ทะเลาะกับนักข่าวน้อยลง
ลองดูว่าหลังผ่านพ้นไปเดือนเศษ "ลุงตู่" รักษาคำมั่นได้มากน้อยเพียงใด และทำไมท่านผู้นำจึงแสดงออกซึ่งอารมณ์ความไม่พอใจได้อย่างรุนแรงขนาดนั้น

ปฎิกิริยาฉุนเฉียวไม่สบอารมณ์ต่อคำถามนักข่าว ตั้งแต่วันที่วันแรกของเดือนแห่งความรักแล้ว
ที่มาของจุดเดือดทางอารมณ์ของนายกฯน่าจะมาจากที่ถูกนักข่าวซักถามประเด็นต่างๆในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกสังคมวิพากวิจารณ์ ไม่ว่า ที่มานายกรัฐมนตรี อำนาจขององค์กรอิสระ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรอบเวลาของการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งนายกฯยืนยันว่าเมื่อเสร็จสิ้นตามกระบวนการต่างๆแล้ว จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นแน่นอนในปีหน้า หรือ 2560

แต่ก็ยังมีเสียงจากนักการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง มองว่ารัฐธรรมนูญยังมีจุดอ่อนหลายจุด มีโอกาสสูงที่อาจจะไม่ผ่านการทำประชามติ ยิ่งเป็นการสะกิดอารมณ์ของท่านผู้นำเกรี้ยวมากขึ้น จนคุมสีหน้าและอารมณ์ไม่อยู่อีกครั้ง ในวันประชุมครม. เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในงานนี้ดูเหมือนจะเตือนสติตัวเองตลอดเวลา พร้อมกับกล่าวตอนหนึ่งว่า

"จะทำตัวเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อยตามที่ทุกคนขอร้องมา แค่ความจริงแล้ววันนี้โมโหตั้งแต่ตี 4 ตื่นมาก็โมโหแล้วเพราะเห็นปัญหาหลายอย่างขอให้เข้าใจซึ่งกันและกัน..."

และสุดท้ายก็มาลงที่บรรดานักข่าวอีกตามเดิม

"ที่ผมหงุดหงิดมารายวันเป็นเพราะคำถามเดิมๆของสื่อ พูดแล้วพูดอีก อะไรที่มันจะขัดแย้งก็ขอลดลงหน่อย แต่ก็จะถามให้ขัดแย้งให้ได้ นี่คือปัญหาของประเทศเรา ซึ่งผมโทษใครไม่ได้ ต้องโทษพวกเราทุกคนที่ไม่ได้ปลูกฝังหลักการ และเหตุผล ปลูกฝังแต่เรื่องของประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพอย่างเดียว วันข้างหน้าไม่มีทางจะอยู่กันได้"

ปรากฎการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันของ"บิ๊กตู่"หลายฝ่ายสะท้อนว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความวิตกกังวลต่อข้อกล่าวหาจากกลุ่มการเมือง กลุ่มภาคประชาชนต่างๆ ที่ติงว่า รัฐธรรมนูญฉบับ"มีชัย"โหดไป ตลอดจนเสียงขู่จากฝ่ายพรรคการเมืองว่าอาจจะรวมตัวคว่ำร่าง รธน. หรือไม่ให้ผ่านประชามติ

ส่งผลให้การจัดกิจกรรมทางการเมืองที่เข้มงวดอยุ่แล้ว เข้มหนักอีกทวีเท่า ล่าสุดขบวนล้อเลียนการเมือง งานประเพณี"ธรรมศาสตร์-จุฬา "ครั้งที่ 71 ถูกทาง คสช.ขีดเส้นอย่างเข้มงวด

ไม่เฉพาะกิจกรรมนักศึกษาเท่านั้น แม้แต่นักวิชาการกลุ่มสยามปัญญาภิวัฒน์ ก็เกิดอาการ "เซ็ง"ไปตามๆกัน เมื่ออยู่ๆก็มีคำสั่งจาก คสช. ให้ระงับการจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ...ปฎิรูปได้จริงหรือ" ที่กำหนดไว้วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นการจัดสัมมนาดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จะเสนอความคิดเห็นและขับเคลื่อนในทางวิชาการ โดยจัดไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

นักวิชาการนิด้าที่ร่วมเสวนา ไม่ใช่ใครอื่น คนคุ้นเคยกันทั้งนั้น ไม่ว่า รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ศาสตราจารย์ ดร. อุดม ทุมโฆสิต รศ.ดร. สุวิชา เป้าอารีย์ และอาจารย์คมสัน โพธิ์คง ฯลฯ

ที่น่าคิดคือ เวทีนี้นักวิชาการที่มาร่วมสะท้อนมุมมองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นผู้ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คสช.มาก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559