อย่าเสียอธิปไตย จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

04 ส.ค. 2561 | 15:03 น.
63+6+6+6+458458 รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม ที่คาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าร่วมความตกลงเขตการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดการค้า บริการ และการลงทุน จะเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการของไทยไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนของปี 2561 ไทยมีการส่งออกไปยัง 17 ประเทศ ซึ่งเป็นคู่เจรจาเอฟทีเอกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.78% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ในจำนวนนี้กว่า 73% เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกราว 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
judsue อย่างไรก็ตามการเข้าร่วม CPTPP มีเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่ต่างจากการทำความตกลงเขตการค้าเสรีอื่นๆ คือ กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จนนำมาซึ่งความกังวลว่าจะทำให้เราสูญเสียอธิปไตยด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีมูลค่าในแต่ละปีเกือบ 1.4 ล้านล้านบาท

กรมบัญชีกลาง ประเมินว่า การเข้าร่วม CPTPP ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือทำให้รัฐได้สินค้าที่มีคุณภาพดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการของไทยไปยังตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐของคู่ภาคี ขณะที่ข้อกังวลหรือผลกระทบมีหลายประการได้แก่ การเปิดตลาดอาจทำให้สูญเสียงบลงทุนในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ต่างประเทศ

คงต้องยอมรับว่างบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปี มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน การซื้อวัตถุดิบภายในประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างกำลังซื้อให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น หากมีการเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เปิดทางให้เอกชนประเทศสมาชิก CPTPP เข้ามาประมูลแข่งกับเอกชนไทย ก็จะเป็นการลดทอนอำนาจรัฐในการใช้นโยบายจัดซื้อจัดจ้างในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  
|ฉบับ 3389 ระหว่างวันที่ 5-8 ส.ค.2561
e-book-1-503x62