ทำไม OTA ข้ามชาติผูกขาดบุ๊กกิ้งโรงแรมไทย?

04 ส.ค. 2561 | 11:20 น.
รายงานออนไลน์
โดย : สายฟ้า

นาทีนี้เชื่อว่าเลยใครก็ตามที่กำลังมองหาดีลห้องพักราคาพิเศษ สำหรับการแพลนท่องเที่ยว ร้อยทั้งร้อยต่างคลิ๊กค้นหาข้อมูลและจองห้องพัก ผ่านออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือ Online Travel Agent (OTA) ข้ามชาติกันทั้งนั้น มาเลยจ้ะ แบรนด์ที่นึกถึง Agoda.com ,Booking.com,Expedia.com,Hotels.com,Trivago.com ที่กระหน่ำโฆษณาทั้งออฟไลน์และออนไลน์จนคุ้นหู

จะว่าไปแล้วการโฆษณาก็เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค แต่ทุกวันนี้การที่OTA เหล่านี้ เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เป็นเพราะจุดเด่นของระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการจองที่สะดวกและรวดเร็ว มีการใช้ระบบโซเชียล เน็ตเวิร์ค ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกตลาดทั่วโลก เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถการันตีกับลูกค้าได้ว่า จะได้ราคาที่ถูกกว่าและส่วนลดที่มากกว่า
ota จุดเด่นเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างมหาศาลของOTAข้ามชาติเหล่านี้ รวมถึงการสร้างช่องทางหลากหลายให้ลูกค้าเข้าถึงการจองสินค้า และบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ แล็ปท็อป แท็บเลต โทรศัพท์มือถือ เว็บบนสมาร์ททีวี หรือหน้าร้านออนไลน์ของOTA นั้นๆที่มีการแปลภาษาต่างๆทั่วโลก ครอบคลุมการจองผ่านเว็บไซต์มากกว่า 200 เว็บไซต์ทั่วโลก

ภายใต้แบรนด์จองห้องพักดอทคอมข้ามชาติ ที่เราเห็นกันว่ามีหลากหลายเว็บไซด์ให้เลือก แท้จริงแล้วมีเจ้าของเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดของโลกอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น และทั้ง 2 ราย ต่างก็เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น NASDAQ ของประเทศสหรัฐอเมริกา

รายแรกคือ “ไพรซ์ไลน์ กรุ๊ป” ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ “Agoda.com” เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์จองห้องพัก ที่มีโรงแรมในเครือข่ายกว่า 1 แสนแห่ง และมีเว็บไซต์ที่ได้รับการแปลภาษาต่างๆถึง 38 ภาษา และ “Booking.com” มีห้องพักให้จองถึง 1.15 ล้านแห่ง ใน225 ประเทศ มีให้บริการในภาษาต่างๆมากกว่า 40 ภาษา

อีกราย คือ “เอ็กซ์พีเดีย อิน คอร์ปอเรชั่น” ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Expedia.com , Hotels.com, Trivago(เว็บเปรียบเทียบราคา), AirAsiaGo เป็นต้น และวันนี้ เอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป ก็เป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว เพราะเอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป ไม่เพียงเปิดให้จองห้องพักมากกว่า 4.35 แสนแห่งทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ด้านการท่องเที่ยวแบบออนไลน์กว่า 16 แบรนด์ จากการเข้าไปซื้อแบรนด์ท่องเที่ยวแบบออนไลน์ในด้านต่างๆเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ อาทิ ตั๋วรถไฟ ตั๋วเรือสำราญ รถเช่า กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เข้าทำนองปลาเล็กกินปลาใหญ่ สร้างฐานการขายโปรดักส์ความหลากหลายครอบคลุมท่องเที่ยว
ota1 แน่นอนว่าเมื่อโมเดลธุรกิจนี้ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และอีคอมเมิร์สเข้ามามีบทบาทในการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สอดรับกับการเดินทางเที่ยวเองที่เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ทำเอาที่ผ่านมาธุรกิจเอเย่นต์ดั้งเดิมต้องล้มหายตายจาก หรือต้องดาวน์ไซด์ธุรกิจ หรือต้องปรับตัวมาทำออนไลน์กันยกใหญ่เพื่อความอยู่รอด

จากความนิยมในการจองห้องพักและบริการท่องเที่ยวทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้โรงแรมไหนไม่อยากตกขบวน ก็ต้องนำห้องพักมาขายผ่านระบบของ OTA เหล่านี้ โดยแลกกับการจ่ายค่าคอมมิชชั่นจากการขายห้องพักที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ตามมา คือ การผูกขาดตลาด

เมื่อ 10 ปีก่อน ตอน OTA ข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาเปิดตลาดโรงแรมในไทยใหม่ๆ ก็ต้องวิ่งเข้ามาทำตลาดกับโรงแรมในไทย เพื่อหาโรงแรมเข้าไปขายผ่านระบบ ตอนนั้นคิดค่าคอมมิชชั่นกับโรงแรมอยู่ที่ 10% ต่อบุ๊คกิ้ง แต่ตอนนี้โรงแรมต้องเป็นฝ่ายวิ่งหา OTA แทน เพราะวันนี้ OTA ได้กลายเป็นช่องทางการขายหลักของโรงแรมไปเสียแล้ว ทั้ง OTA บางแบรนด์ อย่าง Agoda ก็มีลูกเล่นที่จะผลักดันให้โรงแรมขายห้องพักได้มากขึ้น เช่น การยกอันดับโรงแรม ให้ขึ้นสู่หน้าแรกของเว็บได้ หรือที่เรียกว่า “การทำRanking” แลกกับการที่โรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้นอีก 5-10%ต่อบุ๊คกิ้ง จากการจ่ายคอมมิชชั่นปกติซึ่งอยู่ที่ราว 20-25% ต่อบุ๊คกิ้ง ดังนั้นโรงแรมท็อปฮิตที่ขายดีๆจะเสียค่าธรรมเนียมให้OTA เบ็ดเสร็จราว 30-35 % ต่อบุ๊คกิ้ง และสิ่งสำคัญคือการนำห้องพักมาขายผ่าน OTA ต้องนำเสนอราคาที่ลดแล้วหรือ Best Available Rate เท่านั้น จึงไม่แปลกที่ OTA จะการันตีกับลูกค้าได้ว่าจะได้ห้องพักในราคาที่ถูกนั่นเอง
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ถามว่าคุ้มไหมขึ้นอยู่ว่าถามใคร เพราะการใช้ OTA ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ขณะที่โรงแรมเอง แทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำการขายในต่างประเทศ หรือทุ่มงบโปรโมทตลาดมากมายยังไงก็คงไม่ครอบคลุมลูกค้าทั่วโลกแน่นอน ดังนั้นการเลือกใช้ OTA ที่เขามีซอฟแวร์หรือแพลตฟอร์ม ที่สามารถนำมาใช้ในการขายได้อยู่แล้ว แถมเข้าถึงนักท่องเที่ยว 24 ชั่วโมง หลายโรงแรมยอมแลก เพื่อให้โรงแรมได้เข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก แต่โรงแรมเล็ก ก็คงเลือกที่จะขายผ่านออนไลน์ของตัวเองมากกว่า เพราะคุ้มกว่า ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโรงแรม

แล้วถ้าจะถามหาคนที่เสียประโยชน์จาก OTA ล่ะ ฟันธงได้เลยว่า รัฐบาล เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีการดำเนินธุรกิจของOTA เหล่านี้ได้เลย แถมห้องพักในไทยที่ขายผ่านระบบ หากเป็นโรงแรมเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนดำเนินธุรกิจถูกต้อง ผู้ประกอบการที่พักก็ไม่ได้จ่ายภาษีด้วยเช่นกัน งานนี้แม้ภาครัฐจะพยายามขอความร่วมมือให้OTA เหล่านี้ ขายห้องพักที่ถูกกฏหมาย ซึ่งแบรนด์ข้ามชาติต่างๆก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าพร้อมร่วมมือ หากภาครัฐมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ก็ว่ากันไป เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีจาก OTA เหล่านี้ที่เข้ามากินในไทย ก็ยังต้องรอกระบวนการออกกฏหมายภาษีอีคอมเมิร์ซของรัฐบาล ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร(ฉบับที่)พ.ศ...เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการอีเล็กทรอนิกส์หรือภาษีอีบิสสิเนส ซึ่งหากทำกฏหมายเสร็จเมื่อไหร่ ไทยก็คงจะได้จัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามเสียเหล่านี้ได้เสียที หลังปล่อยให้มากินโกยรายได้มานานนับ 10 ปี

e-book-1-503x62