ประยุทธ์ย้ำ”ไทยนิยม”ไม่ใช่”ประชานิยม”

04 ส.ค. 2561 | 08:46 น.
ประยุทธ์ย้ำ”ไทยนิยม”ไม่ใช่”ประชานิยม”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า” ประเด็นที่ผมอยากเล่าให้ฟังในวันนี้ ก็คือทำไมเราต้องพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดไทยนิยม? แนวคิดเรื่องไทยนิยม นั้นไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม และก็ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นแนวคิด หรือ way of thinking ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ บนพื้นฐานของความต้องการ ความนิยม ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเป็นความนิยม หรือความเชื่อ ในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ที่ถูก ที่ควรนะครับ ช่วยกันสร้างค่านิยมในสิ่งดีๆ บนพื้นฐานของ การมีคุณธรรม จริยธรรม ด้วย ไม่ใช่ว่านิยมอะไร อยากได้อะไร ได้มาไม่ว่าถูกหรือผิด ก็รับได้หมด คงไม่ใช่แบบนั้น

นอกจากนั้นไทยนิยมยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดความต้องการของคนในพื้นที่ เรากล่าวมานานแล้วนะครับความต้องการ ของ Area Base ในพื้นที่น่ะ พูดมานานแล้ว วันนี้เราจะทำให้เป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้นนะครับ ความต้องการของคนในชาติเป็นหลัก สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ร่วมกันแก้โจทย์ หรือปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ เฉพาะของแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ที่เรียกว่าศักยภาพด้วยกลไกของประชารัฐ เพราะฉะนั้นไทยนิยมจึงเป็นการต่อยอด ขยายผลจากประชารัฐ เป็นการส่งเสริมให้เกิด "การระเบิดจากข้างใน" การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบร่วม รัฐบาลจึงไปแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ เพื่อให้เกิดการประสานงาน ร่วมมือกันขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหา

 

tuking1

 

เมื่อมองในภาพรวมของประเทศ กระบวนการไทยนิยม เช่นว่านี้ ก็จะเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม จากทุกฝ่าย พัฒนาให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศเรา ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกที่สนใจแต่การเลือกตั้ง และ ให้ความสำคัญแต่เสียงส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อยเหล่านี้นะครับ รัฐบาลนี้ได้เริ่มนำแนวทางไทยนิยม มาใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อน การแก้ปัญหาและ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานรากผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงทราบดีนะครับ ว่าปัญหาของประเทศ ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มากที่สุด ก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รายได้ และโอกาสที่กระจายไปไม่ทั่วถึง ชุมชนเมือง กับต่างจังหวัด มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและ มีมาตรการเพื่อแก้ไข อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องการผลักดัน ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนนะครับ และยกระดับความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องการสร้างความแน่นอนทางรายได้ สร้างโอกาสและความยั่งยืนของการกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ภายใต้หลักของวินัยทางการคลังนะครับ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การไม่สร้างภาระด้านงบประมาณ ไม่สร้าง "หนี้" ให้กับประเทศ จนเกินตัว ในระยะยาว เงินรายได้ของประเทศที่หามาได้ ในอนาคตก็ควรใช้ในการดูแลประชาชน ในอนาคต ไม่ควรนำมาใช้หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อดูแลประชาชน ในวันนี้ มากจนเกินกำลัง

ซึ่งหลักคิดนี้ จะช่วยตอบโจทย์การสร้างอนาคตของประเทศ ได้อย่างตรงจุดไปพร้อมกันด้วย จึงเป็นที่มาของ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ในปัจจุบัน สำหรับโครงการไทยนิยมยั่งยืนนี้ ก็จะเป็นกิจกรรมที่มีกลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับชาติ สู่ระดับพื้นที่นะครับ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบกลไก "ประชารัฐ" เพื่อจะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงของชุมชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ผ่านการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ร่วมกัน เพื่อจะจัดทำแผนแก้ไข และสร้างโอกาส ในการพัฒนาตนเอง ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ในการเพิ่มรายได้ ให้แก่ประชาชน อย่างยั่งยืน

ก็จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหา หรือสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ไม่ได้มาจากการวางแผนจากส่วนกลาง แต่ต้องมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่เองด้วยนะครับ ซึ่งเป็นผู้รู้ปัญหา และข้อจำกัดของตัวเองดีกว่า ภาครัฐจะมีส่วนร่วม ในการนำผู้เชี่ยวชาญลงไปยังพื้นที่ ช่วยนำเสนอโครงการ หรือแผนงานเพื่อให้ได้งบประมาณที่เหมาะสม และ ดูแลให้โครงการมีความสอดคล้องเชื่อมต่อกับแผนงานของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด นะครับ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมความถึงท้องถิ่นด้วยนะครับ

โดยจะมีการติดตาม ประเมินผล การให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป มากกว่าแนวทางที่เคยดำเนินการมา ในช่วงก่อนหน้านี้นะครับ ที่ผ่านมานั้น โครงการไทยนิยมยั่งยืน ได้มีการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และความต้องการของประชาชน ทุกหมู่บ้านนะครับ 4 ครั้ง มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 8 ล้านคน โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนสภาพปัญหา ที่แตกต่างกัน ในแต่ละพื้นที่ มีการแสดงความเห็น และข้อเสนอแนะวิธีการ หรือโครงการ ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชุมชน ในขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงานและ คอยอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เท่านั้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ทั้งนี้ "โครงการไทยนิยมยั่งยืน" มีแผนงานที่เสนอขอรับงบประมาณ ขึ้นมานะครับ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้ "โดยตรง" 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลานตากผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว และโรงสี

(2) โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้ "โดยอ้อม" 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนเพื่อการเกษตร ขุดลอกสระ-ห้วย-หนอง-คลอง-บึง และ ลานอเนกประสงค์ - สาธารณประโยชน์ (3) โครงการประเภทส่งเสริมคุณภาพชีวิต 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนสัญจรภายในหมู่บ้าน ศาลากลางบ้าน ศาลาประชาคม หรืออาคารอเนกประสงค์ และ การปรับปรุงซ่อมแซมประปาหมู่บ้านนะครับ

ทั้งนี้ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สำคัญ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นการแก้ปัญหา และช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นโครงการที่รัฐทำเพื่อประชาชน รับฟังประชาชน และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และออกแบบ โครงการที่เหมาะสม อย่างแท้จริง ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของแต่ละโครงการจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะการปรับตัวของประชาชนเอง โครงการนี้ จะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องนะครับ โดยรัฐบาลจะประเมินผลโครงการและ นำมาปรับปรุงกิจกรรมการดูแลสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนในชนบทให้ดีขึ้น “

e-book-1-503x62