4 โครงการด่วนอีอีซี “ลุยตามแผน” “ลงนาม”ไม่เกินQ1ปี62

03 ส.ค. 2561 | 11:14 น.
4 โครงการด่วนอีอีซี “ลุยตามแผน” “ลงนาม”ไม่เกินQ1ปี62

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ถือเป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากพ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้นั้น ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการต่างๆ

โดยนายคณิศกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานดอนเมือง ถึง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และขายเอกสารการคัดเลือกฯ มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกฯ ทั้งสิ้น 31 ราย จาก 7 ประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสารคัดเลือกฯ ตรวจสอบเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (Due Diligence) จนถึงวันที่ 31 ส.ค.2561 โดยในขั้นตอนต่อไปจะมีการจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ก.ย.2561 และ เปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ 12 พ.ย. 2561 จากนั้นจะมีการประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน ผ่านการเจรจา และลงนามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 และเปิดให้บริการโครงการฯประมาณปลายปี 2566

kbb

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 (ช่วงต่อขยายจาก ท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่านจ.ระยอง จันทบุรีและตราด) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการพัฒนาโครงการภายใต้กรอบเวลา ซึ่งจะจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบโครงการฯส่วนต่อขยาย และลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในต.ค. 2561 เริ่มศึกษาและออกแบบโครงการฯ ส่วนต่อขยาย พ.ย. 2561

ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบหลักการของโครงการฯ ในวันที่ 10 ส.ค.2561 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติโครงการฯ และวงเงิน ซึ่งคาดว่าจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน(ขายซองเอกสาร) ได้ภายในเดือนก.ย.2561 พร้อมทำการคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ รวมถึงจะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและลงนามสัญญา ภายในเดือน ธ.ค. 2561 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการฯในปี 2564

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งที่ 3 หลังจากเปิดรับฟังไป 2 ครั้งแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา เนื้อหาการพิจารณายังไม่ครอบคลุมในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน พ.ศ. 2560 จึงมีความจำเป็นในการจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งภายในเดือนส.ค.นี้

สำหรับแผนงานดำเนินโครงการในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการการท่าเรือฯ และเพื่อเสนอต่อคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น ตามกระบวนการของประกาศ EEC track คาดว่าจะสามารถดำเนินการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ภายในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งขั้นตอนต่อไปกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในต้นเดือนม.ค. 2562 และเสนอขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ภายในเดือนก.พ. 2562

รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เปิดสัมมนาการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ไปแล้ว 2 ครั้ง และจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนครั้งที่ 3 รวมทั้งจะมีการสรุปรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA Report) ในเดือนส.ค. 2561 และจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนพ.ย. 2561 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ภายในเดือนก.พ. 2562 คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชนภายในเดือนก.พ. 2562 โดยทั้งหมดนี้จะรายงานให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบในวันที่ 10 ส.ค.นี้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กล่าวว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2561 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในจ. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีจำนวนทั้งสิ้น 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท หรือ 67% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริม เพิ่มขึ้นเป็น 122 % (เทียบกับมูลค่า 77,069 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน) โดยแบ่งเป็นจ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 19 โครงการ จ.ชลบุรี จำนวน 74 โครงการ และจ.ระยอง จำนวน 49 โครงการ

ทั้งนี้ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คิดเป็นเงินลงทุนรวม 175,149 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) มูลค่า 161,811 ล้านบาท จำแนกเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าการลงทุน 161,245 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมดิจิทัล ตามลำดับ

e-book-1-503x62