ไทยพาณิชย์รุกหนักบัตรเครดิต

06 ส.ค. 2561 | 10:21 น.
ไทยพาณิชย์บุกธุรกิจบัตรเครดิตเต็มสูบ หลังจับมือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ออก SCB M สร้างไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้ง เผยครึ่งปีโตกว่าตลาดที่ 20% ขณะที่ภาพรวมตลาดขยายตัว 5-10% ลั่นเน้นลูกค้าใช้เป็นบัตรหลัก ดันยอดใช้จ่ายทั้งปี 2.8 แสนล้านบาท ฐานบัตรรวมแตะ 2.3 ล้านใบ

นายณรงค์  ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Wealth Segment และผู้บริหารสูงสุด Wealth Products ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีแรกทั้งระบบ บัตรใหม่มีอัตราเติบโต 5-10% และยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ขยายตัว 10% ขณะที่ธนาคารขยายตัวมากกว่าตลาดที่ 20% ซึ่งมาจากการใช้จ่ายในส่วนของท่องเที่ยวที่ขยายตัวค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันยังไม่เน้นขยายฐานบัตรจำนวนมากๆ เหมือนในอดีตที่ 1 คน ถือหลายใบ ทำให้ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จำนวนหน้าบัตรลดลงจากเดิมที่มีกว่า 20 หน้าบัตร เหลือเพียง 10-15 หน้าบัตรเท่านั้น เพราะลูกค้าจะเลือกใช้บัตรเพียงใบเดียวที่มีสิทธิประโยชน์ที่ตรงใจ และจะหยิบใช้เป็นบัตรหลัก

[caption id="attachment_303326" align="aligncenter" width="503"] ณรงค์ ศรีจักรินทร์ ณรงค์ ศรีจักรินทร์[/caption]

ธนาคารต้องการมุ่งเน้นการเป็นบัตรหลักใบเดียวที่ลูกค้าเลือกใช้ ดังนั้น หลังจากลดจำนวนหน้าบัตรลง เพื่อสร้างสิทธิประโยชน์ที่ตรงใจลูกค้า จึงได้ร่วมกับเดอะมอลล์ กรุ๊ป ผสานดิจิตอลแบงกิ้งและไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้งเข้าด้วยกันผ่าน 4 ช่องทางคือ การออกบัตร Co-branded “SCB M” ครอบคลุมทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรพรีเพด และกิฟต์การ์ด รวมถึง Payment Services ด้วยการชำระเงินจากบัตร SCBM ในรูปแบบ Virtual Credit Card ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอพพลิเคชัน  SCB EASY บนมือถือ บริการ Banking Agent Services ชำระบิลต่างๆ ได้ที่แคชเชียร์ในห้าง และเทคโนโลยีที่ช่วยให้การช็อปปิ้งสนุกมากขึ้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารปีนี้ ตั้งเป้ายอดบัตรรวมที่ 2.3 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 20% จากสิ้นปีก่อนที่มียอดบัตรอยู่ที่ 1.9 ล้านใบ ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งหากรวมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของ SCB M ภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 2.8 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 18% จากปีก่อน โดยยอดสินเชื่อคงค้างภายในสิ้นปีอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 18% จากสิ้นปีก่อนยอดคงค้างอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าที่ใช้จ่ายสมํ่าเสมอ (Active) อยู่ที่ 63-65%

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พบว่า ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ทั้งระบบอยู่ที่ 2% แต่ธนาคารตํ่ากว่าตลาด โดยอยู่ที่ราว 1% และไม่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของธปท.มากนัก เพราะฐานลูกค้าของธนาคารเฉลี่ยมีรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน แม้ว่ารายได้ขั้นตํ่าที่สมัครบัตรเครดิตจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนก็ตาม

“ตลาดบัตรเครดิตที่เติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทำให้คนที่อั้นใช้จ่ายมาตั้งแต่ปีก่อนมั่นใจมากขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ อัดแคมเปญและกิจกรรมการตลาดต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เราจะเปลี่ยนการเติบโตมาให้ลูกค้าใช้เราเป็นบัตรหลัก จึงเริ่มร่วมมือกับพันธมิตรแต่ละกลุ่มเพียงกลุ่มละรายเท่านั้น เพื่อให้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกค้าใช้เราเป็นบัตรหลักใบหนึ่ง”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62