"โรงเลื่อยภาคใต้" ยอดวูบ 30% !! โดนหางเลขจีนคุมเข้มมาตรฐานโรงงานในประเทศ

06 ส.ค. 2561 | 08:50 น.
060861-1532

lo03

"โรงเลื่อยไม้ยางพารา" โดนหางเลขจีนคุมเข้มมาตรฐานโรงงาน จนโรงงานเฟอร์นิเจอร์ต้องปิดตัวไปหลายโรงงาน ส่งผลให้ยอดส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปอบแห่งลดลงกว่า 30% ต้องปรับตัวขนาดใหญ่ ลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับยอดสั่งซื้อและหาทางลดต้นทุนเพิ่ม


lo02

นายประชา งามรัตนกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ขณะนี้ ผู้ประกอบการโรงเลื่อยไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งส่งออก ยอดส่งออกตกลงกว่า 30% ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่เข้มงวดกับโรงงาน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขบวนการผลิตสินค้าต้องได้มาตรฐาน เช่น อาหาร อาหารสำเร็จรูป สินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงสินค้าที่ผลิตจากไม้ยางพารา คือ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าที่ผลิตจากไม้ยาง โรงงานต้องมาตรฐาน ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังกวาดล้างโรงงานที่ผลิตสินค้าปลอมอย่างจริงจัง เพราะต้องการที่จะสร้างมาตรฐาน สามารถส่งออกสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ถูกกีดกันทางการค้า

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมไม้ยางพาราแห่งประเทศไทยได้นำผู้ประกอบการโรงเลื่อยในประเทศไทย เดินทางไปยังมณฑลหนานหนิง ประเทศจีน โดยได้รับการประสานจากกงสุลไทย ทูตพาณิชย์ไทยในประเทศจีน นำผู้ประกอบการโรงเลื่อยไม้ยางพาราจากไทย พบปะผู้ประกอบการโรงงานที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์และสินค้าจากไม้ยางพารา เพื่อหาช่องทางใหม่ ๆ ในการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปไปขายให้กับผู้ประกอบการโรงงานที่เมืองหนานหนิง"

นายประชา กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่โรงงานในจีนเริ่มรู้จักและใช้ไม้ยางพาราแปรรูปจากไทย จีนนำเข้าไม้ยางผลิตสินค้าออกมาขายให้กับคนจีน 100% ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชากรของจีนมีบ้านและที่อยู่อาศัย ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์จึงขายดีมาก ๆ เป็นยุคทองของไม้ยางไทย ปัจจุบันนี้ สินค้าที่ผลิตจากไม้ยางขายในจีน 50% อีก 50% ส่งออกไปยังต่างประเทศ จีนเป็นประเทศชั้นนำที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้มาตรฐานงานฝีมือ ส่งขายได้ทั่วโลก ยังเป็นความหวังของโรงเลื่อยในไทยที่จะส่งไม้แปรรูปไปขายให้โรงงานในจีนได้อย่างต่อเนื่อง ไทยผลิตไม้ยางพารา 100% ส่งออกขายไปยังจีน 90%

ปัจจัยที่ทำให้ยอดสั่งซื้อไม้ยางจากไทยลดลง 30% มี 2 สาเหตุหลัก คือ 1.รัฐบาลจีนเข้มงวดมาตรฐานการผลิต ย่อมส่งผลกระทบโรงงานในจีนที่ไม่ได้มาตรฐานหลาย ๆ โรงงานต้องปิดตัว หรือ ชะลอการผลิต หากจะทำธุรกิจนี้ต่อไปก็ต้องเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐบาลและมีมาตรฐานในการผลิต จึงจะอยู่ได้ 2.เฟอร์นิเจอร์ ที่ขายให้บ้านหลังใหม่ตามนโยบายรัฐ เริ่มจะอิ่มตัวไปบ้าง


lo07

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการโรงเลื่อยทั้งภาคใต้ก็มีมาตรการมารองรับ 1.ลดกำลังการผลิตทุก ๆ โรงงานลงมา 30% เพื่อให้สอดคล้องกัน ระหว่างดีมานด์ คือ ความต้องการ และกำลังผลิต คือ ซัพพลาย ดังนั้น จะเห็นว่า ขณะนี้ ราคาไม้รับซื้อหน้าลานก็ลดลง ไม้ยางขนาด 5 นิ้วขึ้นไปซื้อ กิโลกรัมละ 2.60 บาท ขนาด 3 ถึง 4 นิ้ว รับซื้อกิโลกรัมละ 1.80 บาท 2.ลดต้นทุนในการผลิตทั้งหมด 3.ไม่มีการขยายโรงงานเพิ่ม

ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการโรงเลื่อยใน จ.ตรัง มี 42 โรงาน กำลังผลิตไม้ยางพาราแปรรูปหากนับเป็นตู้ขนาด 40 ฟุต ผลิตได้เดือนละ 6,000 ตู้ ไม้ยางจากโรงงานในตรังเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการโรงงานในจีน เพราะไม้คุณภาพดี ลายสวยงาม มีมาตรฐาน เป็นอีกเครดิตหนึ่งที่ทำให้โรงเลื่อยในตรังสามารถขายไม้ได้ดี ในประเทศไทยมีโรงงานที่มีโต๊ะเลื่อยมากกว่าไม้ยางที่ปลูกเสียอีก


……………….
เซกชัน : ภูมิภาค โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5-8 ส.ค. 2561 หน้า 21

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"โรงงาน SCG" ที่ลาวน้ำท่วม ปิดชั่วคราว!
WD ยึดไทย "ฮับฮาร์ดดิสก์โลก" !! ปิดโรงงานในมาเลย์ - บีโอไอการันตีมาแน่


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว