กกร.ขานรับอีอีซี ช่วยดันจีดีพี 3 จังหวัดโตกว่า10%

06 ส.ค. 2561 | 12:47 น.
ในงานสัมมนาหัวข้อ “อีอีซีเดินหน้า เชื่อมโลกให้ไทยแล่น : โอกาสของนักลงทุนไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงการทำงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาให้กับนักลงทุนไทยได้ทราบว่าดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว โดยยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทยมากนัก เพราะเชื่อว่าการลงทุนขนาดใหญ่และการดึงเม็ดเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องอาศัยเม็ดเงินและเทคโนโลยีจากต่างชาติมาช่วยเป็นหลัก จึงได้โหมการออกไปโรดโชว์ยังต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

แต่เมื่อมีการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก ก็มาถึงคิวของนักลงทุนไทย ว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนาอีอีซี ซึ่งได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ประโยชน์ของอีอีซีกับภาคเอกชน”

เงินลงทุนสะพัดช่วง5ปี

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า กกร.พร้อมที่จะสนับสนุนให้การพัฒนาอีอีซีเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประเทศไทยไม่มีการลงทุนมานาน และจะเป็นโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดในพื้นที่จะขยายตัวกว่า 10% ภายในปี 2569

โดยการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การพัฒนาอีอีซี จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน จากเม็ดเงินลงทุนในอีอีซี จะทยอยเติบโตขึ้นในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า โดยในช่วงปี 2561-2563 จะมีเม็ดเงินร่วมลงทุนรัฐและเอกชนเฉลี่ยราว 1.62 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่สนับสนุน อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการพัฒนาเมืองใหม่ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล  อุตสาหกรรม S-Curve และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นต้น โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ขณะที่ในปี 2564-2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 3.72 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน, เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ, การพัฒนาสมาร์ทซิตี และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเห็นได้จากสัญญาณบวกของนักลงทุนต่างชาติ ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ธุรกิจได้อานิสงส์ทั่วหน้า

ทั้งนี้ ธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกค้าส่ง บันเทิง โรงพยาบาล และโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  คาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะเติบโตอีกราว 50% จากปี 2560 ที่มีมูลค่าราว 75,190 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 112,395 ล้านบาทในปี 2579 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนอัตราต่อปี  มีแรงงานและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเติบโตเพิ่มขึ้นอีกราว 2 เท่าตัวจากปี 2560 และจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 140% จากปี 2560

นอกจากนี้ ในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะส่งผลให้สถาบันการเงินได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% ใน 10 ปีข้างหน้า โดยจะก่อให้เกิดสินเชื่อต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 184,664 บาท ในปี 2564 และเพิ่มเป็น 256,542 บาทในปี 2569 และยังส่งผลต่อเงินฝากต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 206,988 บาท ในปี 2564 และเพิ่มเป็น 274,721 บาท ในปี 2569 ซึ่งภาคการเงินพร้อมที่จะสนับสนุนมีเงินทุนพอที่จะรองรับการพัฒนาได้ TP11-3389-A
ดึงนักท่องเที่ยวโต46.7ล้านคน

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จากอีอีซีไม่ได้มีเพียงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและนวัตกรรม แต่ยังรวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่เป็นกลุ่มใหญ่จะได้รับอานิสงส์โดยตรง จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซี ที่คาดว่าในช่วงอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีผู้มาเยือน เพิ่มขึ้นเป็น 46.7 ล้านคน จากปัจจุบัน 29.89 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 1.8 เท่า หรือราว 5.08 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน 2.85 แสนล้านบาท

โดยการพัฒนาโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบรางเมืองพัทยา โครงการ Pattaya on Pier โครงการ Cruise Terminal โครงการพัทยาเมืองใหม่ โครงการ Greater Pattaya และโครงการถนนเฉลิมบูรพาชลทิต เฟส 2 จากสุนทรภู่ถึงสนามบินอู่ตะเภา จะทำให้แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารตลอดเส้นทางนี้ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นจะสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท

เสนอรัฐให้แต้มต่อเอสเอ็มอี

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างเต็มท่ี่ โดยได้จับมือกับพันธมิตร เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และนิคมฯร่วมภาคเอกชน ส่งข้อมูลพื้นที่การลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ และพาสำรวจพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งจัดหาซัพพลายเออร์ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วน เข้าไปเชื่อมโยงกับนักลงทุนที่จะเข้ามา ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมารองรับ รวมทั้งผู้ผลิตไทยสามารถเข้าไปใช้บริการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการสนับสนุนนักลงทุนไทย อยากจะให้อีอีซีเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา เช่น การให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะลงทุน หรือขยายการลงทุน ที่อยู่นอกพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เท่ากับนักลงทุนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมฯ เพราะพื้นที่ในนิคมมีราคาแพงมาก ทำให้เข้าถึงได้ยาก และเอสเอ็มอีบางรายก็ตั้งอยู่นอกพื้นที่นิคมมานานแล้ว จึงควรได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายการลงทุน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5-8 ส.ค. 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว