10ก.พ.ชี้ชะตาไทยทีวี/ยึดแบงก์การันตี

09 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
กสทช. ยันไม่ประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลรอบ 2 หลังยึดช่องไทยทีวี-เอ็มวีทีวีคืนจากเจ้ติ๋ม เล็งจัดสรรเป็นคลื่นความถี่ 700 MHz รองรับโทรคมนาคมแทน เผย กสท.เตรียมตั้งโต๊ะประชุมก่อนทำหนังสือยื่นแบงก์การันตีจ่าย 1.63 พันล้านใน 30 วัน ด้านนักวิชาการชี้ ไทยทีวี เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ปิดกิจการเร็วสุดในโลก ขณะที่แบงก์กรุงเทพลุ้นประชุมสรุป 10 กพ.นี้ หวังอานิสงส์คืนไลเซนรอดไม่ต้องจ่ายเงินค้ำประกัน

[caption id="attachment_30554" align="aligncenter" width="503"] Timeline สะสางปัญหาทีวีดิจิตอลของไทยทีวี Timeline สะสางปัญหาทีวีดิจิตอลของไทยทีวี[/caption]

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่ครบกำหนดพักใบอนุญาตช่องไทยทีวีและเอ็มวีทีวี แฟมิลี่ ของบริษัท ไทยทีวี จำกัด และไทยทีวีไม่นำเงินมาชำระค่างวดและค่าธรรมเนียมต่างๆ ทำให้ต้องเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบการกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล กสทช.มีแนวทางจะเก็บคลื่นไว้ก่อนและจะยังนำคลื่นไปประมูลใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากที่ประชุมมองเห็นว่าจำนวนช่องทีวีดิจิตอลที่มีอยู่ในขณะนี้มีจำนวนมากเกินไป และมีแนวคิดนำคลื่นดังกล่าวไปจัดสรรเป็นคลื่นความถี่ 700 MHz พัฒนาทางฝั่งของโทรคมนาคมมากกว่า เพราะมูลค่าของคลื่นค่อนข้างมีราคาสูง

ทั้งนี้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์2559นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งมีพันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ นั่งเป็นประธาน กสท. จะมีการประชุมเพื่อลงมติเพิกถอนใบอนุญาตไทยทีวี หากที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำนักงานจะดำเนินการส่งหนังสือไปยังธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ออกหนังสือค้ำประกัน ให้ชำระเงินค่าประมูลที่เหลือทั้งหมดรวมเป็นเงิน 1.63 พันล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ภายใน 30 วัน ในวันถัดไปทันที และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ กสท.จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวเข้าบอร์ดกสทช. เพื่อให้พิจารณา พร้อมกับวาระอื่นๆ ก่อนที่จะนำเสนอแนวทางออกแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป

บอร์ดกทส.ยันจำเป็นต้องถอน

ด้านผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสท. กล่าวว่า การผิดนัดชำระค่างวดของไทยทีวีหลังจากครบกำหนดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน กสท.จำเป็นต้องดำเนินการตามมติเดิมที่เคยแจ้งไว้ คือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ กระบวนการที่เหลือก็จะมีการดำเนินการตามกฎ กติกา ในการเรียกชำระเงินตามหลักประกันที่มีการวางหนังสือรับรองธนาคารไว้

ทั้งนี้หากมองในแง่ของกฎหมาย การเพิกถอนใบอนุญาตนับเป็นบทลงโทษที่ร้ายแรงมากสำหรับการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมนี้ ขณะเดียวกันข้อเสนอแนวทางการคืนใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าประมูลงวดที่เหลือให้คสช. พิจารณานั้นมองว่าเป็นเรื่องยากมากเนื่องจากพ.ร.บ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ระบุไว้ชัดเจน

โดยพ.ร.บ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 64 ระบุว่าคณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ 1. ผู้รับใบอนุญาตเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา 31 หรือ 63 2.ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา 37 และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง 3.ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตาม พ.ร.บ นี้ 4. ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ นี้ 5.ผู้รับใบอนุญาตต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ 6.ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจที่เป็นบริษัทฝ่าฝืนมาตรา 15 การสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 30 วัน

นักวิชาการแนะใช้กม.แก้ปัญหา

ด้านดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิตอลและสื่อใหม่ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า กรณีการเพิกถอนใบอนุญาตไทยทีวีนั้น กสทช.ควรดำเนินการแก้ไขโดยใช้กระบวนการของกฎหมายเข้ามาก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากปัญหานี้ยืดหยุ่นมาแล้ว 90 วัน หากกสทช.ไม่ดำเนินการตามหลักของกฎหมายปัญหาในอุตสาหกรรมนี้หรือเรื่องนี้ก็จะไม่มีทางออก หลังจากนั้นกสทช.จะหาทางเยียวยาผู้ประกอบการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของกสทช.

"ผมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้น หากกสทช.ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยนำหลักของกฎหมายมาเป็นแนวทาง ปัญหาของเรื่องนี้และอุตสาหกรรมนี้จะไม่มีทางออกเลย ย้อนไปคู่กรณีได้เรียกร้องสิทธิ์มานาน 90 วัน ประกอบกับกสทช.ก็ดำเนินการยืดหยุ่นมาพอสมควรแล้ว ซึ่งหากปล่อยเรื่องนี้หรือผู้ประกอบการรายนี้ไปก็จะไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ"

เพิกถอนใบอนุญาตเร็วที่สุดในโลก

ขณะเดียวกันเหตุการณ์เพิกถอนใบอนุญาตครั้งนี้นับเป็นผู้ประกอบกิจการรายแรกของโลกที่ปิดตัวเร็วที่สุดเพียงแค่ 1-2 ปี ซึ่งจากการสังเกตอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลทั่วโลกที่เกิดขึ้นก็มีผู้ประกอบกิจการที่ไม่สามารถทำต่อได้จะใช้ระยะเวลา 2-3 ปี เช่นในประเทศอังกฤษ มีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ แต่บริษัทนั้นจะไม่ใช้วิธียกเลิกกิจการ แต่จะใช้วิธีเปลี่ยนมือ หรือโอนหุ้นแทน แต่ขณะที่ผู้ประกอบกิจการไทยขาดการวิเคราะห์การลงทุนธุรกิจอย่าลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าน่ากังวล

โดยส่วนตัวมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว หากมองย้อนไปก่อนการเริ่มต้นประมูลกสทช.ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้ประกอบการไว้อย่างไรบ้าง และในวันนี้กสทช.ทำได้หรือไม่ อีกทั้งในวันนั้นมีข้อเสนอการออกแบบโครงสร้างและแผนเข้าสู่ระบบทีวีดิจิตอลจากภาคต่างๆ อาทิ นักวิชาการ เอกชน เป็นต้น เสนอการทยอยเปิดช่องทีวี จำนวนช่อง การเข้าสู่ตลาด ฯลฯ แต่กสทช.กลับไม่เลือกนำความคิดเห็นภาคต่างๆไปใช้ ดังนั้นผลที่ออกมาในวันนี้กสทช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจากเป็นหัวขบวนที่จัดทำแผนนี้ขึ้น

อย่างไรก็ดี นอกจากกรณีการไม่ยอมชำระเงินค่างวดของบริษัท ไทยทีวีฯ แล้วพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ต้องการขอคืนใบอนุญาตฯ ไม่ดำเนินการช่องทีวีดิจิตอลต่อ ก่อนที่จะถึงกำหนดต้องชำระเงินค่างวดที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งกสทช. จะมีการพิจารณาพร้อมนำเสนอแนวทางออกให้กับผู้ประกอบการในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้เช่นกัน

แบงก์ลุ้นอานิสงส์คืนไลเซ่น

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องทีวีดิจิตอล(ไทยทีวี และเอ็มวีทีวี แฟลมิลีหรือโลก้า) ค้างชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 จากกสทช. โดยเวลานี้ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการที่ต้องพิจารณาหารือร่วมกันอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะสรุปแนวทางที่ชัดเจน จึงไม่สามารถจะบอกได้ว่าต้องมีการชดใช้อย่างไร แต่ในฐานะผู้ออกหนังสือค้ำประกันการประมูลได้ทำตามขั้นตอนของธนาคารไปหมดแล้วไม่ต้องเป็นห่วง

" การประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมาก็มีบทสรุปที่ดี คือ ประเด็น 2 เรื่องซ้อนกันอยู่ทั้งการเยียวยาและผ่อนปรน ซึ่งทางกสทช.พยายามจะหาทางออกที่เป็นประโยชน์หลายๆแนวทาง เห็นได้จากความพยายามใน 7-8ข้อเช่นเขาจะเสนอให้คืนใบอนุญาตโดยให้มีผลรวมทั้งไทยทีวีด้วย หรือขอให้ขยายเวลาสัมปทานและยืดระยะเวลาการจ่ายค่างวด แต่ผลสรุปคงต้องรอการประชุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ "

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า บมจ.ธนาคารกรุงเทพคาดว่า กรณีการออกหนังสือค้ำประกันการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 2ช่องคือ ไทยทีวี และเอ็มวีทีวี แฟลมิลีหรือโลก้านั้น มียอดแบงก์การันตี 1.6 พันล้านบาทคิดเป็นประมาณ 0.1% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร โดยทางธนาคารคาดสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ 1.0-1.2หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559