ขยายพื้นที่อีอีซีอีก 3 จ.สะดุด รัฐบาลยังไม่ไฟเขียวงบศึกษา

03 ส.ค. 2561 | 04:57 น.
- 3 ส.ค. 61 - ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศาภาคตะวันออก (สกพอ.) ไปศึกษาการขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี จากปัจจุบันมีอยู่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้ครอบคลุมพื้นที่ไปถึงอีก 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สระแก้ว และปราจีนบุรี เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการใช้พื้นที่และโครงสร้างพื้นที่กำลังจะพัฒนาขึ้นมาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การศึกษาครั้งนี้ กำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน นับจากกที่อนุมัติ โดยใช้งบประมาณกลางปี 2561 จำนวน 95 ล้านบาท เพื่อไปจ้างที่ปรึกษาศึกษาศักยภาพของพื้นที่แต่ละจังหวัดว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ที่จะนำมาผนวกกับ 3 จังหวัดที่ประกาศไปแล้ว โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

แต่ถึงวันนี้เวลาผ่านไป 5 เดือนกว่าแล้ว งบกลางที่สกพอ.ขอสำนักงบประมาณไป ดูเหมือนว่าจะยังไม่ขยับ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำเอาคณะทำงานอีอีซีบ่นกันถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้น ว่า มีการอนุมัติในเชิงนโยบาย แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วกลับเป็นการแช่แข็ง การทำให้งานไม่เดินหน้า ซึ่งได้เลยระยะเวลาที่ให้กรอบการศึกษาไว้แล้วงบประมาณยังลงมาไม่ถึง และยังไม่ทราบว่าจะเริ่มศึกษาได้เมื่อใด

ถ้าถามว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนหรือไม่นั้น ตอบได้เลยว่า ย่อมมีอย่างแน่นอน ที่นักลงทุนรายเดิมหรือรายใหม่ จะชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน จากความไม่ชัดเจนของนโยบบาย ที่หวังว่าการขยายธุรกิจจะได้รับอานิสงส์จากสิทธิประโยชน์ภายใต้อีอีซีที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ใหม่ ที่จะมารองรับการลงทุน อาจจะกระจุกตัวอยู่แค่เพียง ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง เท่านั้น ไม่ได้กระจายตัวออกไป ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพจากฐานการผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นการตัดโอกาสหรือการพัฒนาพื้นที่เหมือนอย่างที่คุยไว้

สำหรับแนวคิดที่จะขยายพื้นที่อีอีซีออกไปอีก 3 จังหวัดนั้น ก็เพื่อต้องการยกระดับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศ และภูมิภาค เป็นการส่งเสริมการพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์ เชื่อมโยงกัน ทั้งพื้นที่ตอนในและพื้นที่ตอนนอก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน สร้างกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงกระจายประโยชน์ในการพัฒนา และสร้างเครือข่ายระบบการผลิตร่วมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง e-book-1-503x62

อีกทั้ง ให้เกิดการสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ให้ใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกันต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนา 3 จังหวัดนำร่องไปก่อน สอดรับกับพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีการระบุให้สามารถดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา ให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องให้เป็นเขตพื้นที่อีอีซีได้

ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้เห็นความสำคัญของการพัฒนาอีอีซี และใช้เป็นธงนำในการเดินยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็หวังว่า การประกาศขยายพื้นที่อีอีซีออกไปอีก 3 จังหวัด คงจะได้รับความชัดเจนในเร็วๆนี้ เพราะอย่าลืมว่านักลงทุนและคนในพื้นที่รอการพัฒนาอยู่

.....................

รายงานพิเศษโดย ฐานเศรษฐกิจ โต๊ะข่าวอีอีซี