ThaiBMAหนุนคุมเข้มบี/อี ปกป้องนักลงทุน หากเกิดเหตุเบี้ยวหนี้

07 ส.ค. 2561 | 05:50 น.
สมาคมตราสารหนี้ไทยยอมรับ เกณฑ์คุมเข้มตราสารหนี้ กระทบต้นทุนผู้ออกตราสาร แต่นักลงทุนได้รับการปกป้องมากขึ้น เหตุมีผู้แทนกลั่นกรองความเสี่ยง-ฟ้องร้องแทน หากเกิดเหตุเบี้ยวหนี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย ตราสารหนี้ระยะสั้น ตั๋ว B/E ให้เข้มงวดขึ้น จากเดิมที่สามารถขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่(HNW) ได้ แต่การออกตั๋ว B/E ในปีนี้ ให้ขายได้เฉพาะนักลงทุนวงแคบ(PP)ไม่เกิน 10 ราย หรือขายให้กับนักลงทุนสถาบัน(II) หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ 1 ใน 10 รายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ จะต้องมีตัวกลางในการกลั่นกรองตราสารหนี้ที่จะเสนอขายรวมถึงประเมินในแง่การรับความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

และที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมคือ การเสนอขายหุ้นกู้จากปัจจุบันที่สามารถขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ได้ โดยไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เวลาเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา ทำให้ไม่มีตัวแทนในการฟ้องร้องให้กับนักลงทุน แต่จากนี้ไปในการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนรายใหญ่จะต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย

นางสาวอริยา  ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในแง่ผู้ออกหุ้นกู้จะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะมีการจัดจ้างผู้แทนผู้ถือหุ้นมาทำหน้าที่ แต่ในแง่นักลงทุนเป็นการปกป้องคุ้มครองให้กับผู้ลงทุนมากขึ้น และนักลงทุนเองก็เริ่มมีบทเรียนตั้งแต่ปีที่แล้วว่า จะไม่ดูแค่เรื่องผลตอบแทนอย่างเดียว ทำให้ขณะนี้อย่างน้อยก็มีคนเข้ามาช่วยนักลงทุนกลั่นกรองมากขึ้นและยังมีคนเข้ามาทำหน้าที่ในการฟ้องร้องแทนกรณีเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งตั๋ว B/E มีการผิดนัดชำระหนี้ไม่ถึง 0.5% ของมูลค่าหุ้นกู้ยอดคงค้างทั้งตลาดที่มีหลายแสนล้านบาท MP19-3389-A


อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีการออกตั๋ว B/E อย่างต่อเนื่องและจำนวนมากในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นการออกโดยสถาบันการเงิน คล้ายๆเงินฝาก ขายให้กับนักลงทุนสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงๆ ก็ยังออกได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็น B/E ที่ออกโดยกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตํ่า คือตํ่ากว่าอันดับน่าลงทุน และไม่มีอันดับ(ตํ่ากว่า BBB- และ Non-rated) ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะหันไปออกหุ้นกู้มีประกันมากขึ้น

การออกตั๋ว B/E ไม่ต้องจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ต้นทุนในแง่ดอกเบี้ย โดยทั่วไปจะมอง term structure ถ้า Yield Curve โค้งขึ้นการออกตั๋วระยะสั้นต้นทุนจะถูกกว่าในแง่ดอกเบี้ย ทำให้สถาบันการเงินที่อันดับความน่าเชื่อสูงๆ นิยมออกเพื่อบริหารสภาพคล่องระยะสั้นให้สอดคล้องกับการปล่อยกู้ แต่ถ้าออกระยะยาวอัตราผลตอบแทนจะสูงขึ้นตาม structure ของ Yield Curve

“ในมุมบวก จะเป็นผลดีต่อนักลงทุนมากกว่า เพราะการที่อันดับความน่าเชื่อถือไม่ดี แล้วจะขายให้กับนักลงทุนไม่ได้ทำได้ง่ายๆอีกต่อไปจะออก B/E ได้จะต้องออกเป็นหุ้นกู้ซึ่งจะมีข้อกำหนดสิทธิ์ในการดูแลนักลงทุนมากขึ้นและยังมีเรื่องของหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับนักลงทุนอุ่นใจมากขึ้น”

                หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5-8 ส.ค. 2561 e-book-1-503x62