ปฏิกิริยา | ติดบ่วงหนี้ 'กยศ.' ... 'ครูวิภา' ไม่ใช่คนสุดท้าย

02 ส.ค. 2561 | 11:41 น.
020861-1811

เราเพิ่งปลาบปลื้มตื้นตันจากการร่วมมือร่วมใจการเสียสละยิ่งใหญ่กับทั้งโลก ทั้งคนไทยและนานาประเทศ ต่อปฏิบัติการช่วยชีวิตเยาวชนถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ...

ไม่ทันหายปลื้มดี ก็มาพบข่าวชวนหดหู่ นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มเยาวชนเบี้ยวหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ลามไปถึง "ครูวิภา บานเย็น" ครูผู้หวังดีมีเมตตา ต้องมารับภาระหนี้ กยศ. ที่ไม่ได้ก่อ จากกลุ่มนักเรียนไร้สำนึกรับผิดชอบ ได้เงินไปใช้เพื่อความก้าวหน้า กลับหนีหนี้ ไม่รับภาระต่อหนี้ที่ตนสร้าง โดยให้ครูค้ำประกันให้ พอเป็นข่าวก็ออกมาขอโทษ รีบปิดหนี้ บางคนก็ว่ายังเด็ก ไม่มีใครมาตามหนี้ จนทำงานแล้วและเจอหมายศาลแล้ว

 

[caption id="attachment_302871" align="aligncenter" width="498"] ครูวิภา บานเย็น ครูวิภา บานเย็น[/caption]

การศึกษาไม่ได้วัดความเจริญทางจิตใจคนได้เลย ...?

หากไม่มีการปฏิวัติการปลูกฝังจิตสำนึกจริยธรรมความรับผิดชอบ ก่อนให้เยาวชน "หัดเป็นหนี้" โดยการใช้สิทธิ์ กยศ. ปัญหาที่เกิดกับครูวิภา ไม่น่าจะหายไปจากสังคมไทย  เพราะเมื่อเงินถึงมือเยาวชน ก็ยากจะตรวจสอบแล้วว่า เงินได้ใช้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ กิเลสครอบงำหรือไม่

กรณีเยาวชนเบี้ยวหนี้ กยศ. ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ขนาดต้องจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บ่อย ๆ  20 ปีมาแล้ว ที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ใช้เงินของกระทรวงการคลังจัดสรรให้เยาวชนกู้ยืม โดยเจตนาให้เด็กมีเงินมีโอกาสได้เรียนต่อ

 

[caption id="attachment_302872" align="aligncenter" width="503"] ©กยศ ©กยศ[/caption]

หลายคนมีวินัย แต่อีกส่วนใหญ่ก็ใช้ช่องว่างที่หละหลวมของกฎระเบียบทวงหนี้ ละเลยปล่อยให้หนี้พอกพูน และส่งผลกระทบไปยังผู้ค้ำประกัน อย่างกรณีครูวิภานั้น เรื่องกว่าจะถึงครู ก็เข้าปีที่ 10 ที่ให้ค้ำประกัน เงินเด็กมัธยม เพียงคนละหมื่นกว่าบาท การผ่อนชำระก็ให้ปลอดหนี้ถึง 2 ปี ถ้านักเรียนเรียนจบ แบ่งชำระเดือนละ 1,000 บาท 10 เดือน ก็หมดแล้ว

โอเค กระแสโซเชียลได้ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งสำนึก รีบเคลียร์หนี้เพื่อลดภาระครูวิภา แต่นั่นก็เป็นเพียงการบรรเทา ยังมีภาระที่ครูวิภาต้องรับเคราะห์อีกหลายราย แต่เรามาดูว่า "สาเหตุคืออะไร"

จุดประสงค์ของโครงการ กยศ. นั้นดี เพื่อการกู้ยืมเพื่ออนาคตเยาวชน แต่มองอีกด้านก็เป็นดาบสองคม ทำไมผู้กู้ซึ่งเป็นเยาวชน ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ทำตามกฎกติกา หนี้ กยศ. นั้นเอื้อประโยชน์สุด ๆ เพราะเปิดโอกาสให้ผู้กู้ได้นำเงินไปใช้แบบดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ


367EBDD083824FDDAFAC49BADB17D0B0

เหตุจากครูนั้นหวังดี โดยไม่เคยมีความคิดว่า ลูกศิษย์จะไร้ความรับผิดชอบ เมื่อเติบใหญ่ พอเกิดข่าวขึ้นมา ลูกศิษย์หลายคนก็รู้ตัว ตกใจว่าสร้างภาระให้ครูผู้มีพระคุณ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ใคร ๆ ก็พูดได้นะแบบนี้

เหตุการณ์นี้ ทำให้รู้สึกสะท้อนว่า การให้กู้ยืมแก่เยาวชน มันง่ายไปหรือไม่ ในวุฒิภาวะเช่นนั้น ย่อมเห็นแต่ความสะดวก ได้เงินง่าย ดอกเบี้ยต่ำ เลยไม่ตระหนักว่า หากทิ้งไปผลระยะยาวจะเกิดความเดือดร้อนแน่นอน

ดูตามเงื่อนไขการขอกู้ยืม กยศ. เป็นกฎกติกาทั่วไป ที่ไม่มีความเข้มข้นที่จะทำให้นักเรียนผู้กู้ตระหนักถึงภาระหน้าที่สำคัญในการชดใช้หนี้ที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยละเลย ไม่เห็นความสำคัญ และก่อนหน้านี้ กยศ. ก็ไม่มีกฎหมายรองรับการติดตามทวงหนี้ได้อย่างเข้มข้นมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

กฎเกณฑ์ที่หละหลวม ให้กู้ง่ายไป ได้เงินง่ายไป เวลาทวงหนี้ก็ใช้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ไล่ล่ามาทวงหนี้เอาจากคนค้ำประกัน ซึ่งมักเป็นบุคคลในสังคมที่แสดงตน มีหลักประกันอย่าง "ครูวิภา"

ส่วนคนเป็นหนี้จริง กลับปกปิดสถานะ หรือเมื่อเติบใหญ่มีการงานแล้ว ไม่รู้เลยว่าเป็นหนี้ อ้างว่าเกิดขึ้นตอนเป็นเยาวชน ไม่รู้ถึงสภาวะหนี้ของตน

เป็นไปได้อย่างไร ตอนเป็นเยาวชนผู้ปกครองเด็กไปไหนล่ะ ไม่มาตักเตือน


 

[caption id="attachment_302877" align="aligncenter" width="503"] ©กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ©กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา[/caption]

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อลดปัญหาการเบี้ยวหนี้ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต  กยศ. ควรปฏิวัติกฎระเบียบการให้กู้ยืมให้เข้มข้น เบ็ดเสร็จ ระบุกติกาที่เข้มงวด ควรจะมีการอบรมหรือระบบอะไรก็แล้วแต่ ที่จะพิสูจน์ทราบได้ถึงระดับจิตสำนึก จริยธรรม ความรับผิดชอบของบุคคลที่จะได้รับสิทธิ์ การกู้ กยศ. เน้นคุณสมบัติทางนี้จะดีกว่ามั้ย

จากข้อมูล (บางส่วน) ของสถานการณ์ดำเนินงานกองทุน กยศ. ณ 30 เม.ย. 2561 มีผู้กู้ยืมทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงิน 5.7 แสนล้านบาท ส่วนสถิติผู้กู้ชำระปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย เป็นเงินคงค้างชำระถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

นี่คือตัวอย่างบางส่วน ที่น่าจะสะท้อนความไม่สัมฤทธิ์ผลของโครงการ ที่ปรารถนาให้บุคลากรชาติมีอนาคตก้าวหน้า แต่กลับติดบ่วงหนี้ เพราะไร้สำนึกรับผิดชอบ


……………….
คอลัมน์ : ปฏิกิริยา โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● ปฏิกิริยา : "คนจน" ก็คือ "คน"  รัฐบาลต้องตั้งสติให้ดี เรียกเชื่อมั่นกลับคืนมา
● ปฏิกิริยา | 'ประยุทธ์' ปั้น NEW GEN พลิกประเทศ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว