ชนชั้นนำของสยาม-ไทย : 'เก่ง' หรือ 'ไม่เก่ง' ... 'เปิด' หรือ 'ปิด'

02 ส.ค. 2561 | 10:37 น.
020861-1722

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม-การเมือง หรือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาของโลกสมัยใหม่ มีอยู่แม้ในประเทศประชาธิปไตย เป็นปัญหาของไทย อันครั้งหนึ่งนำสู่การโจมตีวิพากษ์ "อมาตย์" โดยคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ส่อนัยว่า ชนชั้นนำหรือชนชั้นสูงของไทยนั้น เป็นชนชั้นท่ีล้มเหลวในการนำพา ทั้งยังผูกขาดทรัพยากร เผด็จอำนาจ และปิดกั้นตัวเอง ไม่ให้ "สามัญชน" หรือ "ไพร่" ได้ขึ้นมาเทียบเคียง เรียกร้องกดดัน หรือ ต่อรองได้

คำถามแรก "อมาตย์ไทย" ที่หมายถึง กษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง เก่ง หรือ ไม่เก่ง ? ผมขอชวนให้คิดว่า ที่จริงแล้วอมาตย์ไทย น่าจะเป็น "อมาตย์" ที่เก่งที่สุดของโลกตะวันออก พวกเขารู้เท่าทันตะวันตก และพัฒนา หรือ ปรับเปลี่ยนได้มากที่สุด จนรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ เป็น "อมาตย์" ไม่กี่แห่งในซีกตะวันออก ที่ไม่พังทะลาย หรือ ไม่ยอมจำนนต่อฝรั่ง หากกลับนำพาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของพวกฝรั่งนักล่าอาณานิคมไปได้

 

[caption id="attachment_302859" align="aligncenter" width="318"] ©OpenClipart-Vectors ©OpenClipart-Vectors[/caption]

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นบุก ส่วนฝรั่งจะแก้แค้น "เอาคืน" ที่เราไปรบเข้าข้างญี่ปุ่น "อมาตย์" ใหม่ อันเกิดขึ้นมาหลังปี 2475 ก็ยังนำพาประเทศให้อยู่รอดต่อได้อีก ในเวลาต่อมาในยุค "สงครามเย็น" ช่วงปี 2489-2532 ที่อเมริกาและยุโรป-ญี่ปุ่นฝ่ายหนึ่ง กับโซเวียต-จีน อีกฝ่ายหนึ่ง "แบ่งโลก" กัน จนเกิดศึกขึ้นมารอบประเทศ แต่ปรากฏว่า "อมาตย์" ของไทย ท่ีขึ้นมาด้วยการยึดอำนาจในปี 2500 และต่อด้วย "อมาตย์" อีกชุดหนึ่ง ที่ขึ้นมาหลังการล้มรัฐบาลทหารในปี 2516 ก็ยังนำประเทศให้อยู่รอดต่อไปได้อีก สังเกตุเถิดครับว่า ท่ามกลางไฟสงครามที่ไหม้ประเทศเพื่อนบ้านเราไม่หยุด นับตั้งแต่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 4 สยามหรือไทยเรานั้น กลับแทบไม่มีสงคราม มีการปะทะกันบ้างตามชายแดน มีการต่อสู้บ้างกับกองกำลังในประเทศ แต่กล่าวโดยทั่วไปประเทศเรามีแต่ "สันติสุข" มาร่วม 200 ปีแล้ว

เอาละถ้าจะดื้อดึงต่อไป ไม่ยอมรับในชนชั้นนำของเราเลย ก็ช่างเถิด แต่จะมองไม่เห็นความเก่ง หรือ ความสำเร็จของเขาเลย ย่อมจะเป็นการวิพากษ์ที่คลาดเคลื่อน และจะนำไปสู่ความล้มเหลวของการวิพากษ์

คำถามต่อมา "ชนชั้นนำ" ของไทยนั้น "เปิด" หรือ "ปิด" กันแน่ คำตอบ "เปิด" มากกว่าครับ จนผมอดคิดไม่ได้ : "หรือ คำว่า "ชนชั้น" ในความหมายกลุ่มผู้มีสถานะทางสังคมที่คงตัวหยุดนิ่งนั้น จะใช้ไม่ค่อยได้กับสังคมเรา ?" ความจริงที่น่าใส่ใจมาก แต่เรากลับไม่ค่อยคิด คือ เจ้านายของสยามหรือไทยนั้น ใน 4 ชั่วอายุคน จากกษัตริย์ก็จะลดฐานะลงมาเรื่อย ๆ ในทุกช่วงรุ่น ลงมาจนถึงขั้นเป็น "หม่อมเจ้า" นั่นยังถือเป็น "เจ้า" อยู่ แต่ครั้นลดต่อมาเป็น ม.ร.ว. และหม่อมหลวงแล้ว ก็ไม่ใช่ "เจ้า" ต่อไปแล้ว ทุกวันนี้เรามีเด็กชาย นาย นาง นางสาว ที่ใช้นามสกุล ณ อยุธยา อยู่เป็นจำนวนมาก แต่คนเหล่านั้นก็เป็น "สามัญชน" แล้ว

 

[caption id="attachment_302861" align="aligncenter" width="252"] ©OpenClipart-Vectors ©OpenClipart-Vectors[/caption]

อนึ่ง กษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงของเราอาจมีชายาหรือเจ้าจอมที่มิใช่ "เจ้า" หรือ มิใช่ลูกหลานของขุนนาง-ผู้ดี ก็ย่อมได้ และอันโอรสธิดานั้น ก็ยังมีสถานะเป็นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ม.ร.ว. ก็ได้ แม้ "แม่" ของท่านจะเป็นเพียงสามัญชน แต่ตรงกันข้ามนะครับ ในสังคมตะวันตกแห่งอดีตนั้น ลูกเจ้าที่เกิดจากแม่ที่ไม่มี "ชนชั้น" ที่ควรคู่กับพ่อนั้น จะถือเป็นแค่ "bastards" มีสถานะคล้าย "ไพร่สาระเลว" ของเรา หรือ "จัณฑาล" ของอินเดีย ไปโน่น

เหตุนี้เอง เลือดไพร่และสามัญชน ในสังคมโบราณของสยาม ได้ไหลเข้าไปอยู่ในตระกูลขุนนางและเจ้านาย หรือ กระทั่งไหลเข้าไปอยู่ในองค์พระมหากษัตริย์ ก็มีครับ เลือด "ต่างด้าว" จะเป็นมอญ เขมร ลาว จีน แขก ฝรั่ง ที่จะเป็นสามัญชน หรือ ขุนนางก็ยังไหลไปรวมกับเลือดของพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงของไทยได้ หรือ เลือดของชาวไทยจากทุกภาค ก็ยังไหลเข้ารวมกับสายพระโลหิตของกษัตริย์และเลือดของขุนนางเมืองหลวง

พิจารณาเช่นนี้ ระบบ "ชนชั้นนำ" หรือ "ชนชั้นปกครอง" ของสยามหรือไทย หรือ ระบบ "อมาตย์" ของเรานั้น ย่อมเป็นระบบ "เปิด" มากกว่า "ปิด" ยิ่งในทุกวันนี้ ก็ยิ่ง "เปิด" ครับ ถ้าไม่เชื่อก็ลองอ่านนามสกุลของรัฐมนตรี หรือ ส.ว. หรือ ส.ส. หรือกระทั่ง สนช. ของเราเถิดครับ เป็นนามสกุลชาวบ้าน ชาวเมืองธรรมดา ตระกูลเจ้านายขุนนางผู้ดีในอดีตแทบจะไม่มีเหลือ ทำนองเดียวกัน ฯพณฯเอกอัครราชทูต ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือกระทั่งปลัดกระทรวง แม่ทัพ ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ก็ล้วนมีนามสกุลที่แสนจะ "ธรรมดา" คือ ใหม่ และมักจะไม่เคยได้ยินกันมาก่อน ส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาไม่นานนี้เอง สะท้อนว่า ระบบสรรหาผู้นำและผู้ปกครองของเรานั้น แม้จะมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง แต่ก็ "เปิด" และ "รับ" คนใหม่ ๆ สามัญชน หรือ "ไพร่" หากจะใช้สำนวนภาษาแบบผู้วิพากษ์รวมทั้งคนจากต่างจังหวัด จากอำเภอ จากตำบล และหมู่บ้าน ให้ได้ไต่ขึ้นมา แข่งกันขึ้นมา ชิงกันขึ้นมา มากทีเดียว

สุดท้าย แม้แต่นามสกุล "จันทร์โอชา" ก็ไม่ใช่ "อมาตย์" คือ สูงส่งมาหลายชั่วคน ที่มีจารีตและศักดิ์ศรีแบบ "ผู้ดี-ขุนนางเก่า" แต่เดิมมานั้น สกุล "จันทร์โอชา" ก็ไม่ได้มี "ชั้น" ที่ต่างไปจากสกุลของคนส่วนใหญ่ในสังคม คิดให้จริงจังกว่านั้น นามสกุลของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ของไทย ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ได้สะท้อนว่า ระบบคัดสรรผู้นำ-ผู้ปกครองของไทยปัจจุบันนี้เป็นลักษณะ "ชนชั้น"


 

[caption id="attachment_302862" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[/caption]

ข้อสรุปที่ว่า "อมาตย์ คือ ชนชั้นสูง" ที่เป็นชนชั้น "ปิด" ที่สืบอำนาจ ถ่ายทอดอำนาจให้ลูกหลานต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด และไม่ "เปิดรับ" ให้คนชั้นล่างลงไป ได้ขึ้นมาแทน หรือ มาสมทบ จึงดูจะ "คลาดเคลื่อน" ไปมาก แม้ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม พร้อมกับเปิดโอกาสให้โอกาสกับผู้คนให้มากกว่านี้ ดีกว่านี้ เร็วกว่านี้ แต่ การเลื่อนไหล "ขึ้นลง" ตามความสามารถความรู้และผลงานในสังคมของเราก็มีมากทีเดียวครับ


……………….
บทความพิเศษ โดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (Anek Laothamatas)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"เสกสรรค์" เชื่อไทยแลนด์ 4.0 – กลไกประชารัฐ คือ 'มาสเตอร์แพลน' ของคสช. – ช่วงชิงมวลชน +วางอำนาจให้กับชนชั้นนำภาครัฐในระยะยาว
“อลงกรณ์” แนะ “นคร มาฉิม” อย่าเข้าเพื่อไทย ไม่ขัดหากประชาธิปัตย์จะฟ้องศาล


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว