โชว์แผนแก้สินค้าเกษตรตกต่ำ ‘ฉัตรชัย’แจงวาระสั้น-ยาว/ชูปี 59 ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต

09 ก.พ. 2559 | 07:30 น.
"ฉัตรชัย" ชี้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศไทย แจงเป็นฉาก ๆ แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล คสช.ทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ทั้งยางพารา มันสำปะหลังภัยแล้ง ขณะระยะปฏิรูปเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในระยะยาว เน้นลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และตรงกับความต้องการของตลาด ชูปี 2559 ปีแห่งการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของเกษตรกร

[caption id="attachment_30571" align="aligncenter" width="375"] พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่ตกต่ำในเวลานี้ว่า ไม่ใช่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก โดยราคาสินค้าที่ตกต่ำมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงความต้องการของตลาดที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทั้งจีน
สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ขณะที่ปัญหาของไทยคือเคยผลิตสินค้าเกษตรอย่างไรส่วนใหญ่ก็ยังทำแบบเดิม ขาดการวางแผน และการกำกับดูแล รวมถึงขาดการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการผลิต
จากปัญหาที่กล่าวมาทางกระทรวงจึงมีนโยบายและแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดี และราคาตกต่ำ ใน 2 แนวทางคือ 1.การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และ 2.ระยะปฏิรูปเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรในระยะยาว

สำหรับแนวทางแรก การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทางกระทรวงและรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนเงินหรือปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน และทำให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ที่สำคัญคือ ในส่วนของยางพาราได้มีโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเสริม การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยมีโครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว และมีโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด ขณะที่การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้มีแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2569 โครงการตำบลละล้าน และความช่วยเหลือ 8 มาตรการเพื่อลดภาระหนี้สิน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และอื่นๆ ทางด้านการตลาดได้มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรในทุกจังหวัดการเจรจาขายสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาล และการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ

"ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในระยะสั้น รัฐบาลนี้ได้ทำไปเยอะมาก เฉพาะยางพาราอย่างเดียวก็ใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรที่มีปัญหาอื่นๆ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือไปพร้อมๆ กัน"

ส่วนแนวทางที่ 2 ระยะปฏิรูปเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรในระยะยาว จากสภาพปัญหาที่สินค้าเกษตรของไทย ไม่สามารถแข่งขันด้านราคา/คุณภาพกับตลาดโลกได้ จึงได้กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยทำใน 4 เรื่องได้แก่ 1.การลดต้นทุนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดราคาปุ๋ย ยา สารเคมี ค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น 2.การเพิ่มผลผลิต คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด โดยการให้สินเชื่อกับเกษตรกรในการไปจัดทำระบบ 3.การบริหารจัดการ และ 4.การตลาด อยู่ระหว่างการจัดพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสม (โซนนิ่ง)กับสภาพดินและน้ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้ใช้ปัจจัยในการผลิตน้อยลง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และตรงกับความต้องการของตลาด

ต่อมายังให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการปลูกพืชในลักษะโซนนิ่ง โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นตัวอย่างในการสาธิตการปลูกพืชให้เหมาะกับโซนนิ่ง รวมถึงให้คำแนะนำเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ฯ 882 ศูนย์ในทุกอำเภอ และ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 1.065 พันล้านบาทเพื่ออบรมเกษตรกรเป้าหมายจำนวน 2.20 แสนคน

"นอกจากนี้จากการบริหารจัดการ และการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและแข่งขันได้ จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน สร้างอำนาจต่อรองทั้งในเรื่องการลดต้นทุนและราคาจำหน่ายผลผลิต เรื่องแปลงใหญ่นี้ได้ดำเนินการแล้วแล้ว ปัจจุบันมีเกษตรแปลงใหญ่ 270 แปลง และมีเป้าหมายแปลงต้นแบบจังหวัดละ 1 แปลง ซึ่งจะดำเนินการประกวด 1 จังหวัด 1 แปลงใหญ่ต่อไป ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และการทำเกษตรแบบผสมผสาน และทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ สิ่งเหล่านี้จะเห็นผลระยะยาว ไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559